นัดเซ็นแล้ว โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนาม

390

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดข่าว ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) กันบ้าง ซึ่งโครงการนี้ได้ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้มาก ซึ่งล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้นัดกลุ่มซีพี ลงนามในสัญญาวันที่ 25 ต.ค.นี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันดูครับ

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ – อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. เงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ซึ่งล่าช้ากว่ากำหนดมาก เนื่องจาก ปัญหาการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างตลอดเส้นทาง 220 กม. ที่เกิดจากพื้นที่ของการรถไฟ มีการบุกรุกที่ดิน ที่เช่า และมีสิ่งก่อสร้างเดิม รวมทั้งสาธารณูปโภคของรัฐ

เดิมที่กำหนดลงนามภายใน 2561 และจะเปิดให้บริการได้ในพ.ศ. 2566 โดยนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการการรถไฟฯ ระบุว่า รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน จะล่าช้าจากกำหนดอีก 2 ปี ถ้าเซ็นสัญญาปีนี้การก่อสร้างจะไปเริ่มปลายปี 2564 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี ก็จะไปเสร็จปลายปี 2569

 

ความคืบหน้าเรื่องการส่งมอบพื้นที่ เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ได้จัดประชุม โดยคณะอนุกรรมการฯ เห็นชอบการส่งมอบพื้นที่สำหรับก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะทำงานส่งมอบพื้นที่ โดยมีปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน รองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานคณะทำงาน และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นคณะทำงาน และจะมีการเสนอให้คณะกรรมการอีอีซี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเห็นชอบต่อไป

โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมโครงการดังกล่าว ได้ทำหนังสือส่งไปยังกลุ่มบริษัทซีพีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าให้เตรียมพร้อมเข้ามาทำการเซ็นสัญญากันในวันที่ 25 ต.ค.นี้ ซึ่งทางกลุ่มซีพีได้ยืนยันว่าพร้อมที่จะเข้ามาเซ็นสัญญาตามกำหนดเวลา

มีรายงานว่า หากทางกลุ่มซีพี ไม่ลงนามตามสัญญาภายในเวลาที่กำหนด คือ วันที่ 7 พ.ย.2562 นอกจากถูกยึดเงินค้ำประกัน 2,000 ล้านบาทแล้ว ยังจะถูกขึ้นบัญชีดำ (Blacklist) จะทำให้หลายบริษัทที่ร่วมกับซีพี ในครั้งนี้ หมดสิทธิ์ในการเข้าร่วมประมูลงานกับภาครัฐ ด้วย

นอกจากนี้ หากรัฐบาลมอบหมายให้รายที่ 2 ดำเนินโครงการแทน หากมีราคาค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้นกลุ่มซีพี ต้องจ่ายส่วนต่างที่เพิ่มขึ้นด้วย ดังนั้นแล้วเชื่อว่าทางกลุ่มซีพี จะลงนามตามสัญญาภายในเวลาที่กำหนด

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม Cr.ภาพ FB: ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม

 

ด้านนายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กล่าวว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการรถไฟเชื่อม 3 สนามบิน สามารถดำเนินการได้แล้ว 72% ประกอบด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่ 1.ระยะทางระหว่างสถานีพญาไท-สถานีสุวรรณภูมิ ระยะทาง 28 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ พร้อมส่งมอบพื้นที่ได้ทันที
2.ระยะทางระหว่างสถานีสุวรรณภูมิ-สถานีอู่ตะเภา ระยะทาง 170 กิโลเมตร คณะทำงานส่งมอบพื้นที่จะสามารถดำเนินการส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดได้ภายใน 1 ปี 3 เดือน ทำให้ระยะทางตั้งแต่สถานีพญาไท-สถานีอู่ตะเภา เปิดให้บริการได้ในปี 2566-2567
3.สถานีพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 22 กิโลเมตร เป็นส่วนที่ดำเนินการได้ยากที่สุด เพราะต้องมีการเคลื่อนย้ายระบบสาธารณูปโภคเกี่ยวข้องกับ 3 กระทรวง 8 หน่วยงาน คาดว่าจะใช้เวลาในการส่งมอบพื้นที่ 2 ปี 3 เดือน

โดยนายศักดิ์สยาม กล่าวเพิ่มเติมว่า จะเสนอเรื่องการเซ็นสัญญากับกลุ่ม CPH ให้ ครม. เห็นชอบในวันที่ 22 ต.ค.62 ก่อนเดินหน้าตามแผนการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายในปี 2567-2568 หรือ 5 ปีข้างหน้า

รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน Cr.ภาพ ยูทูป EEC WE CAN

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็น 1 ในโครงสร้างพื้นฐานหลักในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งทำให้การเดินทางและขนส่งระหว่างจังหวัดในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกรวมถึงจังหวัดหรือภูมิภาคอื่นๆที่เกี่ยวข้อง สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น สามารถลดระยะเวลาและต้นทุนในการเดินทางเมื่อเทียบกับการเดินทางรูปแบบอื่น

แนวเส้นทางโครงการผ่านพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จ.สมุทรปราการ จ.ฉะเชิงเทรา จ.ชลบุรี และจ.ระยอง ซึ่งหากโครงการนี้แล้วเสร็จเร็ว มากขึ้นเท่าใด ก็จะยิ่งทำให้โครงการ EEC ใกล้ความจริงมากขึ้นครับ