ไทยบินถกเมียนม่า ฟื้นโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษ -ท่าเรือน้ำลึกทวาย 

487

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามเรื่อง กระทรวงคมนาคม เตรียมบินหารือเมียนม่า ฟื้นการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกทวาย นอกจากนี้ยังเตรียมหารือร่วม 3 ประเทศ คือ ไทย พม่า และญี่ปุ่น ในเรื่องการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายให้ได้ข้อยุติ และให้เกิดเป็นรูปธรรมได้ไม่เกินภายในต้นปี 2563 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

Cr.ภาพ FB: ข่าวและภาพกิจกรรมกระทรวงคมนาคม

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 28 กันยายน 2562 ที่ห้องประชุมกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พบหารือกับ นายดนุชา พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อหารือเตรียมการประชุมคณะกรรมการประสานงานร่วมระหว่างไทย – เมียนมา เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 9 ที่กรุงเนปยีดอ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ระหว่างวันที่ 2 – 3 ตุลาคม 2562 เพื่อติดตามความคืบหน้าการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายและท่าเรือน้ำลึกทวายเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเส้นทางการค้าและประตูเชื่อมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงหรือ Greater Mekong Sub – region (GMS)

แผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งอาเซียน (ASEAN Connectivity) Cr.ภาพ nesdc.go.th

โดยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคเอเซียนกับโลกตะวันออกและโลกตะวันตก สู่ตลาดในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ กล่าวว่า ฝ่ายไทยยังคงต้องการผลักดันให้การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายเป็นรูปธรรม และมีความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยที่ผ่านมายังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ยุติ ทั้งแผนการบริหารเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย แผนแม่บท, ระยะเวลาสิทธิพิเศษ เดิม 50 ปี บวกอีก 25 ปี เพียงพอหรือไม่

บรรยากาศเมืองทวาย ประเทศเมียนม่า 

เพราะการลงทุนและการก่อสร้างนั้นใช้เวลามาก ซึ่งคาดหวังว่าจะได้เริ่มการหารือในความร่วมมือระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย พม่า และญี่ปุ่น จะได้ข้อยุติและทำให้เขตเศรษฐกิจพิเศษทวายฯ เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมได้ไม่เกินภายในต้นปี 2563 ซึ่งรัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมที่ประเทศไทยต่อไป
นี่เป็นโครงการที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ท่าเรือน้ำลึกทวาย ที่รัฐบาลไทยหลายชุดได้พยายามผลักดัน ที่เชื่อว่าจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจการค้าของไทย เมียนม่า และประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขง เติบโตขึ้น ซึ่งก็ติดตามดูกันต่อไปว่า การหารือครั้งนี้จะคืบหน้าแค่ไหน