เซ็นแล้ว สร้างสะพานไทย-ลาว แห่งที่ 5 -อีก3 ปีได้ใช้

492

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม ความคืบหน้าการลงนามความตกลงระหว่างไทย-ลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามกันเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นนับจากนี้ไปอีกประมาณสามปี ไทยจะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับแขวงบอลิคำไซ และเมืองใกล้เคียงของ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของอีสานตอนบนของไทย และฝั่ง สปป.ลาว ให้คึกคักยิ่งขึ้น และส่วนจะเป็นอย่างไรไปติดตามกันครับ

cr.กระทรวงคมนาคม

 

โดยเรื่องนี้เมื่อ 14 มิถุยายนที่ผ่านมา นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายบุนจัน สินทะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง สปป.ลาว เป็นประธานพิธีลงนามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทย กับรัฐบาล ลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ที่ศาลากลางจังหวัดบึงกาฬ

โดยนายอาคม กล่าวว่า นับจากนี้ไปอีกประมาณสามปี ไทยจะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับแขวงบอลิคำไซ และเมืองใกล้เคียงของ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนให้ดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะจังหวัดบึงกาฬ เพราะสะพานมิตรภาพฯ แห่งนี้ นอกจากจะเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างไทยกับ สปป.ลาว ที่มีอย่างยาวนาน ยังส่งผลต่อการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณด่านชายแดนฝั่งจังหวัดบึงกาฬ และชายแดนฝั่งแขวงบอลิคำไซ ให้เป็นประตูการค้าที่สำคัญในการส่งเสริมการค้า การลงทุนระหว่างสองประเทศให้มากขึ้น

รวมทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปสู่ตลาดจีนตอนใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าจากภาคกลางของ สปป.ลาว สู่ท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบังของไทย เพื่อขนส่งทางทะเลต่อไปยังภูมิภาคอื่น ๆ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงไทย – ลาว กับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ GMS สนับสนุนยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง หรือกรอบ ACMECS ระหว่างประเทศไทย ลาว กัมพูชา สหภาพเมียนมา และเวียดนาม

นอกจากนี้ ในอนาคตทั้งสองประเทศ จะร่วมกันวางแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมในระบบอื่น ๆ ต่อไป

cr.กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

 

สำหรับโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติไปเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 อนุมัติให้กรมทางหลวง ดำเนินโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 2,630 ล้าน ประกอบด้วย ค่าก่อสร้าง 2,553 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท ส่วน สปป.ลาว จะใช้เงินกู้จากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) จำนวน 1,300 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 1,256 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 44 ล้านบาท รวมค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงการฯ ทั้งสิ้น 3,930 ล้านบาท

นอกจากนี้ ครม. ได้อนุมัติให้จัดทำและลงนามร่างความตกลงฯ โดยมอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลงฯ ในครั้งนี้ ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดภาระหน้าที่การดำเนินการก่อสร้างของรัฐบาลแต่ละฝ่าย วงเงินและแหล่งงบประมาณ

สำหรับโครงการดังกล่าวใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้างประมาณ 36 เดือน มีจุดเริ่มต้น ที่บริเวณจุดตัดทางหลวงหมายเลข 222 (กม.123+430) อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประเทศไทย สิ้นสุดโครงการ ที่จุดตัดถนนสาย 13 เมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว

แบ่งงานก่อสร้างเป็น 5 ส่วน ได้แก่ 1. งานก่อสร้างถนนฝั่งไทยขนาด 4 ช่องจราจร ตามมาตรฐานอาเซียน ระยะทาง 12.13 กิโลเมตร 2. งานก่อสร้างถนนฝั่ง สปป.ลาว ระยะทาง 2.86 กิโลเมตร 3. งานก่อสร้างอาคารด่านพรมแดนทั้งสองฝั่ง 4. งานก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ขนาด 2 ช่องจราจร มีไหล่ทางและทางเท้า ความยาวช่วงข้ามแม่น้ำโขง 810 เมตร และทางลาดขึ้นลงสะพานทั้งสองฝั่งรวมความยาวสะพานทั้งหมด 1,350 เมตร และ 5. งานก่อสร้างโครงสร้างเชื่อมต่ออื่น ๆ โดยมีด่านควบคุม (Border Control Facilities, BCF) ทั้งสองฝั่งประเทศ และจุดสลับทิศทางจราจรอยู่ในฝั่ง สปป.ลาว

ก็ถือว่าโครงการนี้คืบหน้าเร็วมาก นับจากนี้ไปอีกประมาณสามปี ไทยจะมีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับแขวงบอลิคำไซ และเมืองใกล้เคียงของ สปป.ลาว ซึ่งจะช่วยให้การเดินทางไปมาหาสู่ได้สะดวกขึ้น และจะช่วยพัฒนาสภาพเศรษฐกิจของ 2 ฝั่งโขงให้คึกคักต่อไปครับ