เรือดำน้ำ ส่อผวา! “เรือฟริเกตสมรรถนะสูง”ลำใหม่ของไทย

703

 

cr.สำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม-กองทัพเรือ

 

พบกันอีกเช่นเคยกับนะครับกับช่อง 1one.asia กับข่าวคราวของประเทศในอาเซียน และเอเชีย

มาติดตามความคืบหน้า การเดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว สำหรับ เรือหลวงภูมิพลอดุลยเดช หรือชื่อเดิม “เรือหลวงท่าจีน เรือฟริเกตสมรรถนะสูง ที่ต่อจากเกาหลีใต้ โดยล่าสุดกองทัพเรือ ก็ย้ำว่า มีแผนต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง อีก1 ลำเอง โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ จาก แดวู

สำหรับเรือ ฟริเกตสมรรถนะสูง ลำนี้ พลเรือเอกลือชัย รุดดิษฐ์ ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นประธานในพิธีต้อนรับ และขึ้นระวางเรือประจำการ ที่ท่าเรือแหลมเทียน ฐานทัพเรือสัตหีบ เมื่อวันจันทร์ที่ 7 มกราคม 2562

 

cr.สำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม-กองทัพเรือ

 

เรือลำนี้ ต่อจาก DSME.-DAEWOO Shipbuilding & Marine Engineering CO., LTD.) เกาหลีใต้ งบฯลำละ เกือบ 1.46 หมื่นล้านบาท

เป็นการพัฒนามาจากเรือพิฆาตชั้น Kwanggaeto Class Destroyer (KDX-I) โดยใช้มาตรฐานทางทหารของสหรัฐฯ และกองทัพเรือเกาหลีใต้ในการต่อเรือ

มีระวางขับน้ำสูงสุด 3,700 ตัน ความเร็วสูงสุดต่อเนื่อง 30 นอต ระยะปฏิบัติการประมาณ 4,000 ไมล์ทะเล กำลังพล 141นาย

สามารถทนทะเลได้ถึงสภาวะทะเลระดับ 6 ขึ้นไป โครงสร้างเรือแข็งแรง มีโอกาสอยู่รอดสูงในสภาพแวดล้อมของการสู้รบและการปนเปื้อนทางนิวเคลียร์ เคมี ชีวะ และสามารถตรวจการครอบคลุมทุกมิติและทั้งกลางวันและกลางคืน เนื่องจาก มีการติดตั้งระบบอำนวยการรบและระบบตรวจการที่ทันสมัยและขีดความสามารถสูง รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงข้อมูลและสื่อสารกับเรือ อากาศยาน และหน่วยบนฝั่ง

cr.สำนักงานรองปลัดกระทรวงกลาโหม-กองทัพเรือ

 

สามารถปฏิบัติการรบได้ทั้ง 3 มิติ ทั้งผิวน้ำ ใต้น้ำ และทางอากาศ โดยการปฏิบัติการสงครามใต้น้ำ สามารถตรวจจับเป้าหมายระยะไกลด้วยโซนาร์ลากท้ายและโซนาร์ติดใต้ท้องเรือ แล้วต่อตีเรือดำน้ำได้ที่ระยะไกลด้วย ตอร์ปิโด

การปฏิบัติการสงครามต่อต้านภัยทางอากาศ ใช้เรดาร์ตรวจการณ์ 3 มิติระยะไกล และระยะปานกลางในการค้นหา ตรวจจับ และติดตามเป้าข้าศึก รวมทั้งแลกเปลี่ยนและประสานการปฎิบัติกับเรือและอากาศยานที่ร่วมปฏิบัติการ แล้วโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีฯ แบบ ESSM และอาวุธปืนของเรือ

มีระบบการป้องกันทางอากาศระยะไกล (ผิวน้ำ) หรือพื้นที่ชั้นนอกของกองเรือ (Battle Group) จะใช้การปฏิบัติการร่วมกับอากาศยานของกองทัพอากาศในการค้นหา ตรวจจับและโจมตี และการปฏิบัติการสงครามผิวน้ำ โดยสามารถโจมตีเป้าหมายได้ที่ระยะไกล โดยปฏิบัติร่วมกับเรือและอากาศยานในการพิสูจน์ทราบเป้า ส่งมอบเป้าและให้ใช้อาวุธจากระยะพ้นขอบฟ้า รวมทั้งโจมตีเป้าพื้นน้ำและใต้น้ำด้วยเฮลิคอปเตอร์ประจำเรือ

ส่วนการป้องกันตนเองนั้น จะโจมตีด้วยอาวุธปล่อยนำวิถีปืนใหญ่เรือและปืนรองต่อสู้อากาศยาน ระบบอาวุธป้องกันระยะประชิด (CIWS) ระบบลวงทางอิเล็กทรอนิกส์ มีระบบควบคุมการแพร่สัญญาณออกจากตัวเรือ อีกทั้งสามารตรวจจับ ดักรับ วิเคราะห์ และก่อกวนสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าของเป้าหมายได้

ทั้งยังสามารถใช้ในการปฏิบัติการรบร่วม โดยผ่านระบบเชื่อมโยงข้อมูลทางยุทธวิธี ให้สามารถปฏิบัติการรบร่วมในลักษณะกองเรือ (Battle Group) ได้แก่ เรือหลวงจักรีนฤเบศร เรือฟริเกต ชุด เรือหลวงนเรศวร เรือคอร์เวต เรือหลวงรัตนโกสินทร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

รวมทั้งการปฏิบัติการรบร่วมกับ เครื่องบินกองทัพอากาศ ตามบทบาทหน้าที่ที่จะได้รับมอบหมาย ซึ่งเรือฟริเกตสมรรถนะสูง จะทำหน้าที่ควบคุมการปราบเรือดำน้ำเป็นหลัก

ซึ่งการเข้าประจำการของเรือหลวงสมรรถนะนี้ จะทำให้มั่นใจได้ในระดับหนึ่งในการป้องกันภัยจากเรือดำน้ำ ก่อนที่ประเทศไทยจะได้มีเรือดำน้ำเข้ามาประจำการ

ทั้งนี้ การที่กองทัพเรือมีแผนต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง อีก1 ลำเอง โดยการถ่ายทอดเทคโนโลยี่ จาก แดวู นอกจากจะช่วยจำนวนเรือรูปแบบนี้ให้มากขึ้นแล้ว ยังจะเป็นแนวทางช่วยการพึ่งพาตัวเองในระดับสูงอีกด้วย ต้งอจับตาดูกันต่อไปครับ