มหาเธร์ จ่อเยือนไทย-จะช่วยดับไฟใต้ได้จริงหรือ

570

ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (Cr.image source : FB: Dr. Mahathir bin Mohamad

 

น่าจับตาอย่างมาก สำหรับ ดร. มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีวัย 93 ปี ของมาเลเซีย ที่จะเยือนไทยระหว่าง 24-25 ต.ค. นี้ โดยจะพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล และจะหารือร่วมกันในหลายเรื่อง

ทั้งด้านเศรษฐกิจ และความมั่นคง โดยเฉพาะสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นปัญหามานานหลายปี

ดร. มหาเธร์ ยังจะเข้าพบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งมีความคุ้นเคยกันตั้งแต่สมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกรัฐมนตรี ด้วย

ในการเดินทางมาคราวนี้ ดร. มหาเธร์ จะนำ นาย”อับดุล ราฮิม” อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาเลเซีย และ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ซึ่งเป็นคนสนิทที่ไว้วางใจมาก มาด้วย

โดย ดร.มหาเธร์ เพิ่งแต่งตั้งเขาเข้ามามีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เมื่อไม่นานมานี้

นายอับดุล ราฮิม มีความคุ้นเคยกับทหารไทยอย่างดี และยังคุ้นเคยกับแกนนำคนสำคัญของ บีอาร์เอ็น และ พูโล ด้วย ท่าทีของ ดร. มหาเธร์ เช่นนี้ จึงเป็นสัญญาณเชิงบวกจากมาเลเซีย

นายอับดุล ราฮิม อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  และ อดีตผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล มาเลเซีย(Cr.image source : youtube: Umno Hq)

 

สัญญาณเชิงบวกของ ดร. มหาเธร์ นี้ คาดว่าสาเหตุมาจาก

1. “ต้องการแก้หนี้สินมหาศาลของประเทศ” ที่ก่อไว้ในยุคของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ซึ่งการร่วมมือกับไทยในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ จะทำให้การค้าขายกับไทยด้านชายแดน 2 ประเทศ มีความคึกคัก และจะช่วยพยุงเศรษฐกิจของมาเลเซียให้ฟื้นกลับขึ้นมาได้

2. การร่วมมือกับไทยจะทำให้โครงการสามเหลี่ยมเศรษฐกิจ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสามฝ่ายเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ จะเดินหน้าเป็นรูปธรรมขึ้นมาได้โดยไว ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและหนี้ให้กับมาเลเซียได้เป็นอย่างดี

3.เงื่อนไขการแก้ปัญหาง่ายขึ้น เนื่องจากพรรคการเมืองของมาเลเซียในภาคเหนือ ซึ่งติดกับไทยเป็นพรรคแนวร่วมของรัฐบาล จากเดิมที่คอยตำหนิรัฐบาลมาเซียต่อท่าทีปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยมาตลอด แต่มาถึงตอนนี้จะไม่ถูกนำมาเป็นประเด็นการเมืองเหมือนในอดีตอีก

4.มาเลเซียต้องการผูกมิตรกับไทยมากขึ้น ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่ามาเลเซียไม่ลงรอยกับอินโดนีเซียและสิงคโปร์ แต่อินโดนีเซียและสิงคโปร์กลับเป็นมิตรที่แน่นแฟ้นกับไทย ซึ่งทำให้ในเชิงยุทธศาสตร์แล้วมาเลเซียกำลังถูกล้อมกรอบจาก 3 ประเทศ การผูกมิตรกับไทยจะได้คลายความกังวลในเรื่องนี้ได้มากขึ้น

สิ่งที่น่าเชื่อว่า ดร. มหาเธร์ จริงจังที่จะแก้ปัญหานี้คือ การตั้ง นายอับดุล ราฮิม คนสนิทขึ้นมาเป็น “ผู้อำนวยความสะดวกในกระบวนการพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ” คนใหม่ แทน “ดะโต๊ะซัมซามิน” คนสนิทของอดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัก ที่ทำหน้าที่มาตั้งแต่ปี 2555 ในยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย

และนายอับดุล ราฮิม คนนี้นี่เอง ที่เป็นผู้ที่มีความสำคัญในการเป็นหัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพฝ่ายมาเลเซียกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งมลายา นำโดย จีน เป็ง ซึ่งการเจรจาประสบความสำเร็จ นำไปสู่ข้อตกลงสันติภาพหาดใหญ่ พ.ศ. 2532

ดังนั้นการที่ ดร. มหาเธร์ เรียกใช้ นายอับดุล ราฮิม ในงานนี้จึงเชื่อว่าหวังผลเลิศไปที่ต้องการแก้ไขปัญหานี้บรรลุผล

ดูเหมือนฝ่ายไทยจะมั่นใจถึงท่าทีของ ดร. มหาเธร์ ดังจะเห็นว่าล่าสุด คณะรัฐมนตรี ได้มีมติตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้คนใหม่

คือ พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาค 4 ขึ้นแทนพล.อ.อักษรา เกิดผล

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ อดีตแม่ทัพภาค 4 (Cr.ภาพ: youtube: Watcharapong Poonchum)

 

โดยระบุเหตุผลว่า ที่ผ่านมา พล.อ.อักษรา ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิ์ภาพ มีความก้าวหน้าหลายประการด้วยกัน แต่ก็ลองเปลี่ยนคนใหม่ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ดู

การปรับทีมงานหัวหน้าพูดคุยสันติสุข คาดว่าน่าจะเป็นมีการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการของฝ่ายที่เกี่ยวข้องก่อนหน้านี้ โดยจะให้มีลักษณะคนในพื้นที่ได้หารือกันเอง และเป็นการพูดคุยอย่างสันติ ซึ่งจะทำให้บรรยากาศการแก้ปัญหาง่ายขึ้น

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็ต้องดูว่า ทั้ง รัฐบาลไทย ผู้เห็นต่าง และรัฐบาลมาเลเซีย มีความเข้าใจความหมายและแนวทางของการพูดคุยสันติภาพอย่างไร สอดคล้องตรงกันหรือไม่ และแง่ปฏิบัติเป็นอย่างไร

แต่การที่รัฐบาลมาเลเซียซึ่งนำโดย ดร. มหาเธร์ ขันอาสามาคนกลางเป็นผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งกลุ่มผู้เห็นต่างกลุ่มต่างๆให้ความเกรงใจ เพราะต้องอาศัยมาเลเซียเป็นแหล่งพักพิง ก็น่าจะทำให้สถานการณ์แม้จะยังไม่จบทันทีทันใด แต่ก็น่าจะดีขึ้นกว่าเก่า

ก็ต้องจับตาดูต่อไปครับ