มาดูความคืบหน้า กรณีเขื่อนแตกในพื้นที่แขวงอัตตะปืน และจำปาสัก ทางตอนใต้ของ สปป.ลาว กันต่อนะครับ
ล่าสุด เมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานจากสื่อต่างประเทศว่า เกาหลีใต้และไทย กำลังให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน เนื่องบริษัทจากทั้งสองประเทศมีส่วนร่วมในการสร้าง และจัดหาเงินทุนโครงการเซเปียน เซน้ำน้อย เพื่อจะขายกระแสไฟฟ้า 90 % ให้กับประเทศไทยเมื่อเปิดดำเนินการ
โดย นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ได้มีคำสั่งให้ส่งเจ้าหน้าที่ และช่วยเหลือฉุกเฉินไปยัง สปป.ลาว พร้อมสั่ง สืบสวนหาสาเหตุของเหตุการณ์เขื่อนแตกนี้แล้ว
นายมุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ( cr..wikipedia.org)
ในวันเดียวกันนี้ มีรายงานว่า กลุ่ม PSPD ซึ่งเป็นกลุ่ม เคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในเกาหลีใต้ ได้ออกแถลงการณ์ว่า เขื่อนนี้ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลเกาหลีใต้อย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลควรเข้าไปช่วยในการจัดการเหตุการณ์ดังกล่าว
พร้อมระบุว่า นี่เป็นอุบัติเหตุที่ผิดปกติอย่างยิ่ง และเป็นโศกนาฏกรรม ต้องมีการหาสาเหตุให้พบ
สำหรับเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เป็นเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ตั้งอยู่ระหว่างแขวงจำปาสักกับแขวงอัตตะปือ เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2556 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2562
ดำเนินการโดย บริษัท เซเปียน-เซน้ำน้อย เพาเวอร์ จำกัด เป็น กิจการร่วมทุนระหว่างลาว-เกาหลีใต้ และไทย
โดยมีผู้ถือหุ้น 4 บริษัทคือ
1. บริษัท เอสเค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรักชั่น จากเกาหลีใต้ ถือหุ้น 26 %
2.บริษัท โคเรีย เวสเทิร์น เพาเวอร์ บริษัทรัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ ถือหุ้น 25 %
3. บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) เอกชนไทย ถือหุ้น 25 %
และ 4.กิจการรัฐวิสาหกิจ สปป.ลาว ถือหุ้น 24 %
นี่คือ ความคืบหน้าล่าสุด จากท่าทีของเกาหลีใต้ ก็ต้องดูบทบาทของเกาหลีใต้ ในการเข้ามาจัดการเรื่องนี้ ร่วมกับรัฐบาล สปป.ลาว และฝ่ายเอกชนของไทย ในฐานะที่เป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญในโครงการนี้ ต้องดูกันต่อไปครับ