พบ”เนื้อไก่-ตับไก่”กว่า 40 % มียาปฏิชีวนะตกค้าง

1809

 

มาดูเรื่องของการปนเปื้อนสารพิษในอาหารกันบ้าง โดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบ เนื้อไก่สดและตับไก่สด พบกว่าร้อยละ 40 มีการตกค้างของยาปฏิชีวนะ ด้านนักวิชาการเตือน การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะบ่อยครั้งอาจทำให้เกิดการดื้อยาในคนได้

 

โดย เมื่อ 19 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยผลทดสอบ ‘การตกค้างจากยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) ในอกไก่ และตับไก่สด’ โดยสุ่มเก็บตัวอย่างจากห้าง ตลาดสด และห้างออนไลน์ ระหว่างวันที่ 9 – 15 มิถุนายนที่ผ่านมา จำนวน 62 ตัวอย่าง

แบ่งเป็นอกไก่สด 32 ตัวอย่าง และตับไก่สด 30 ตัวอย่าง เพื่อนำมาตรวจวิเคราะห์หาการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 3 ชนิด จาก 3 กลุ่ม

คือ กลุ่มที่ 1 กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (Fluoroquinolone Group) คือ เอนโรฟลอคซาซิน (Enrofloxacin) กลุ่มที่ 2 กลุ่มเตตราไซคลิน (Tetracycline Group) คือ ด็อกซีไซคลิน (Doxycycline) กลุ่มที่ 3 กลุ่มเบต้า – แลคแทม (Beta – Lactam Groups) คือ อะม็อกซีซิลลิน(Amoxicillin)

ผลการตรวจวิเคราะห์การตกค้างของยาปฏิชีวนะทั้ง 3 ชนิด พบการตกค้างของยาปฏิชีวนะ 26 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 41.93

ด้าน ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในสัตว์ มีอันตรายทั้งต่อมนุษย์และสัตว์ คือ การดื้อยา การแพ้ยา และอาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ

ส่วนอันตรายของยา Doxycyclin(ด็อกซีไซคลิน) จะทำให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ เช่น อาจทำให้ฟันมีสีคล้ำ สามารถพบเห็นได้ในเด็กมากกว่าในผู้ใหญ่ มีอาการระคายเคืองในระบบทางเดินอาหาร มีผื่นคันบริเวณผิวหนัง และอันตรายของยา Enrolfloxacin (เอนโร-ฟลอค-ซาซิน) อาจทำให้เกิดอาการอาเจียนหรือท้องเสีย

ทั้งนี้ หากใช้ยาตัวนี้สูงกว่าขนาดที่แนะนำ 10 เท่า อาจทำให้กระดูกอ่อน ข้อต่อต่างๆเกิดความเสียหาย

และอันตรายของยา Amoxycillin ( อะม็อกซีซิลลิน) จะทำให้เกิดผื่นคัน ลมพิษ หรือมีอาการหอบหืด หากพบอาการหายใจมีเสียงหวีด (อาการของหอบหืด) หลังใช้ยา ควรต้องหยุดใช้ยาทันทีและรีบพบแพทย์หรือไปโรงพยาบาล

Cr.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 

 

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา กล่าวด้วยว่า ทุกวันนี้มีการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาโรค ทำให้มีโอกาสที่จะได้รับยาดังกล่าวอยู่แล้ว และหากเรารับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนบ่อยๆ ก็อาจทำได้รับยาปฏิชีวนะในปริมาณที่มากเกินไป

ซึ่งการได้รับยาดังกล่าวในปริมาณมากและบ่อยครั้งจะส่งผลให้เกิดอาการดื้อยา และจำเป็นต้องใช้ยาที่แรงขึ้น จนสุดท้ายอาจไม่มีตัวยาใดมารักษาได้เลย

ในการรับประทานอาหารในปัจจุบันต้องระมัดระวังกันนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหารเป็นเรื่องสำคัญ ฝากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก่ไขเรื่องนี้ด้วยครับ