มาติดตามการสร้างรถไฟฟ้า ของไทยกันบ้าง ล่าสุด มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ บริษัท ช ทวี จำกัด ได้ทดสอบ รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT แล้ว หวังเป็นต้นแบบระบบขนส่ง และ เตรียมประเดิมสร้างในเส้นทางเมืองขอนแก่น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อ 27 มกราคม 2566 มีรายงานว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น หรือ มทร.อีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) ทำการทดสอบการขับเคลื่อนขบวนรถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT หวังเป็นต้นแบบระบบขนส่งสาธารณะ
โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยและพัฒนาต้นแบบระบบรถไฟฟ้ารางเบา และชิ้นส่วนอะไหล่ที่ผลิตภายในประเทศไทยเพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตในภาคอุตสาหกรรม โดยทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น และ บริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน)
รถไฟฟ้ารางเบา หรือ LRT ไทยผลิตเอง/Cr.ภาพ fb Paiwan Kerdtuad
เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับโครงการรถไฟฟ้ารางเบา LRT จังหวัดขอนแก่น ที่กำลังจะดำเนินการก่อสร้างเส้นทางวิ่ง รวมทั้งการพัฒนาพื้นที่บริเวณรอบสถานี (TOD) ตลอดทั้งโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ในเส้นทาง สำราญ – ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนระบบรางเบา สายเหนือ-ใต้ ต้นแบบในเมืองภูมิภาคจังหวัดขอนแก่น ซึ่งจะแล้วเสร็จในอีก 3 ปี
ซึ่ง ดร.ไพวรรณ เกิดตรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า โครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบาที่ผลิตชิ้นส่วนทั้งหมดสามารถผลิตได้ภายในประเทศได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยต่อยอดมาจากงานวิจัยที่มีอยู่เดิมให้ได้ชิ้นส่วนสำคัญสำหรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ โบกี้ (Bogie) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ ตัวถัง (Car Body) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ชนิดพื้นต่ำ มอเตอร์ลากจูง (Traction Motor) อินเวอร์เตอร์ขับเคลื่อน (Traction Inverter) ระบบปรับอากาศ (Cooling System) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา แพนโตกราฟ (Pantograph) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา ระบบจ่ายไฟฟ้าเสริม (Auxiliary Power Unit) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา
นอกจากนี้ ยังมี อุปกรณ์ยึดเหนี่ยวราง (Fastener) สำหรับรถไฟฟ้ารางเบา และหมอนคอนกรีตอัดแรง (Sleeper) ผสมยางพารา
และว่า งานวิจัยดังกล่าวจะช่วยเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ และความเชี่ยวชาญในด้านการวิจัย การออกแบบและพัฒนาชิ้นส่วนทางด้านระบบราง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตชิ้นส่วนระบบรางภายในประเทศไทย โดยปัจจุบันมีโครงการรถไฟฟ้ารางเบาในต่างจังหวัดในหลายเส้นทาง เช่น ขอนแก่น เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นต้น
ครับ ความก้าวหน้าของโครงการนี้ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ ในการพัฒนาด้านระบบขนส่งทางรางที่ผลิตได้ในประเทศไทย ทดแทนการนำเข้าขบวนรถไฟ และอะไหล่จากต่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในประเทศสามารถวิจัย พัฒนา และออกแบบการผลิตขบวนรถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงได้เองภายในประเทศ และเพื่อรองรับความต้องการด้านการขนส่งทางรางในอนาคต
ซึ่งผลของโครงการลักษณะนี้ หากเดินเครื่องเต็มสูบ นอกจากจะเป็นการพึ่งพาตนเองแล้ว ยังจะสร้างงาน ส่งออกสร้างเงินเข้าประเทศได้อีกด้วยครับ/