นับหนึ่งแล้ว ก่อสร้างสถานีรถไฟเชียงราย

743

 

มาติดตามความก้าวหน้าโครงการ รถไฟทางคู่ เด่นชัย เชียงราย เชียงของ กันบ้าง ล่าสุด มีการเดินหน้าก่อสร้าง สร้างสถานีรถไฟเชียงรายแล้ว ส่วนความคืบรวมทั้งโครงการอยู่ที่ 0.52 % คาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

มีรายงานจากโครงการ รถไฟทางคู่ เด่นชัย เชียงราย เชียงของ ถึง ความก้าวหน้าโครงการ ที่เริ่มมาตั้งแต่ต้นปี ว่า เริ่มมีการนับ 1 ก่อสร้างสถานีรถไฟเชียงรายแล้ว
ส่วนความก้าวหน้ารวมทั้งโครงการ 0.52 % โดยแบ่งเป็น 3 สัญญา

ประกอบด้วยสัญญาที่ 1 ช่วงเด่นชัย-งาว งานโยธา งานระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 104 กม.มูลค่าก่อสร้าง 26,560 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.18 %,

สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย งานโยธา งานระบบรางและงานระบบอาณัติสัญญาณ ระยะทาง 135 กม.มูลค่าก่อสร้าง 26,890 ล้านบาท ผลการดำเนินงานมีความก้าวหน้า 0.68%

และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ งานโยธา งานวางระบบราง และงานอาณัติสัญญาณ ระยะทาง84 กม.มูลค่าก่อสร้าง 19,385 ล้านบาท ความก้าวหน้า 0.78 %

โดยทั้ง 3 สัญญาสิ้นสุดการปฏิบัติงานเดือนมกราคม 2571

 

 

โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทาง 323.10 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้าง 72,921 ล้านบาท
มีจุดเริ่มต้นจากสถานีเด่นชัย จ.แพร่ มุ่งหน้าขึ้นเหนือผ่านจังหวัด ลำปาง พะเยาสิ้นสุด ที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นเส้นทางที่จะเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่ง จากจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า ที่ อ.เชียงของ สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 4 ไปยัง เมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และ จีนตอนใต้ ที่เมืองคุนหมิง สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดภาคเหนือเป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับ อ. เชียงของเป็นโลจิสติกส์ฮับของภาคเหนือ และส่งเสริม จ.เชียงรายเป็นเมืองโลจิสติกส์ (Logistic City) ของภูมิภาคในอนาคต ขณะที่ สามารถเชื่อมโยงจากประเทศจีนตอนใต้ ผ่านลาว มาไทยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง รองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ได้อย่างสะดวก
เชื่อมโยงการเดินทาง ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยสามารถเชื่อมต่อกับท่าเรือ และสนามบิน รวมไปถึงโครงข่ายทางหลวงภายในประเทศ เป็นโครงการที่เชื่อมระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) และอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ได้อย่างสมบูรณ์ ลดต้นทุนด้านการขนส่งอย่างยั่งยืน และเป็นการเปิดประตูสู่การค้าชายแดนภาคเหนือ เพิ่มช่องทางในการส่งออกสินค้าจากไทยและสร้างโอกาสที่ดีต่อการค้า การลงทุนของประเทศ
และจุดเด่นของโครงการนี้ คือ “อุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย”
เมื่อรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของแล้วเสร็จ จะเป็นอุโมงค์รถไฟที่มีความยาวที่สุดในประเทศไทย
ซึ่งโครงการนี้มีเส้นทางผ่านภูเขาสูง และเขตอุทยาน จึงต้องออกแบบก่อสร้างเป็นคันทางระดับดิน และทางรถไฟยกระดับ
รวมถึงมีการเจาะภูเขาก่อสร้างอุโมงค์ 4 แห่ง ซึ่งมีความสูงเหนือระดับพื้นดิน เท่ากับตึกประมาณ 20 ชั้น
โดยระยะทางในอุโมงค์ทั้งขาขึ้น และขาล่องรวม 27.03 กิโลเมตร
อุโมงค์ที่ 1 มีความยาว 1.175 กิโลเมตร อุโมงค์ที่ 2 ความยาว 6.240 กิโลเมตร อยู่ที่อำเภอสอง จังหวัดแพร่
อุโมงค์ที่ 3 อยู่ที่อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ความยาว 2.700 กิโลเมตร
และอุโมงค์ที่ 4 อยู่ที่อำเภอดอยหลวง จังหวัดเชียงราย ความยาว 3.400 กิโลเมตร

ครับใช้เวลากว่า 60 ปี ที่โครงการรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ จะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ ถึงตอนนี้ เริ่มลงมือก่อสร้างได้ ตามแผนคาดว่าจะแล้วเสร็จ และสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้ในปี 2571 ซึ่งจะนอกจาก จะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านโลจิสติกส์ กระตุ้นการค้า การลงทุนแล้ว ยังเพิ่มแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ให้กับประเทศไทยด้วยครับ