ไทย-ญี่ปุ่น ถกรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่

300

 

โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ กันบ้าง ล่าสุด ไทยได้หารือกับญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่น ยันเร่งศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินและจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566 ด้านฝ่ายไทยขอให้นำแนวทาง การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่น มาเป็นกรณีศึกษาการพัฒนา เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

14 ธ.ค. 65 ดร. พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่ โดยมีผู้แทนสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การรถไฟแห่งประเทศไทย

และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT)
สำนักงานก่อสร้าง ขนส่ง และเทคโนโลยีของรถไฟญี่ปุ่น (JRTT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย

 

ไทย และญี่ปุ่น  ประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ – เชียงใหม่/Cr.ภาพ กรมการขนส่งทางราง

 

โดยทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันพิจารณารายงานฉบับกลางของการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงิน ซึ่งมีรายละเอียดสาระสำคัญ ดังนี้

1. ฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานความเป็นมา วัตถุประสงค์ และการวิเคราะห์ทางการเงิน นับตั้งแต่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการ (Feasibility Study : FS) ในปี พ.ศ. 2560 เกี่ยวกับการเพิ่มประสิทธิภาพโครงการ การลดต้นทุน และการประเมินความต้องการเดินทางอีกครั้ง โดยการวิเคราะห์ทางการเงิน จะจัดทำขึ้นเพื่อศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง ด้วยรูปแบบที่หลากหลาย และใช้สมมติฐานที่เปลี่ยนไป
2. ฝ่ายญี่ปุ่นได้รายงานความก้าวหน้าของการวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสำหรับการวิเคราะห์ ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางจราจรที่ใช้ในการศึกษาที่ผ่านมา และการทบทวนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยฝ่ายญี่ปุ่นจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2565 ซึ่งผลกระทบของการลดการปล่อย CO2 จะถูกนำมารวมอยู่ในผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
3. ฝ่ายญี่ปุ่นนำเสนอกรอบระยะเวลาการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินและจะดำเนินการแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2566

ทั้งนี้กรมการขนส่งทางรางได้เสนอให้ฝ่ายญี่ปุ่นพิจารณาศึกษาการคาดการณ์ผลตอบแทนเศรษฐกิจเชิงกว้าง (Wider Economic Benefits) จากการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง โดยนำกรณีศึกษาการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีในประเทศญี่ปุ่นมาเป็นแนวทางดำเนินการ เช่น กรณีการพัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีมินาโตะมิไร เมืองโยโกฮาม่า ซึ่งเป็นสถานีที่รถไฟความเร็วสูงวิ่งผ่าน โดยบริเวณสถานีมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ นำมาซึ่งการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งและการท่องเที่ยวที่นำไปสู่การพัฒนาเมืองใหม่ มาใช้ในการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจและการเงินเพื่อเพิ่มความเหมาะสมของโครงการต่อไป