มาติดตามข่าวมกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เยือนไทยกันต่อ ล่าสุด นายกฯ เข้าเฝ้าฯ หารือกับมกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย พร้อมต่อยอดความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในทุกด้าน ด้านซาอุดีฯ ย้ำพร้อมลงทุน และอยู่เคียงข้างไทยในทุกโอกาส เรื่องนี้น่าสนใจไปติดกันครับ
18 พฤศจิกายน 2565 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เข้าเฝ้าฯ หารือทวิภาคีกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และ ในฐานะแขกพิเศษของการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565
ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรีซาบซึ้งสำหรับการตอบรับการเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และการตอบรับเข้าร่วมการประชุมเอเปค ในฐานะแขกพิเศษของไทย พร้อมกล่าวถวายพระพรชัยมงคลแด่สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และแสดงความยินดีที่มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียทรงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีย้ำถึงความพร้อมของไทยที่จะทำงาน เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ โดยยินดีที่ความร่วมมือทวิภาคีในทุกด้านมีความคืบหน้า และมีการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกันในทุกระดับ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมคณะ เข้าเฝ้าฯ หารือทวิภาคีกับเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด (His Royal Highness Prince Mohammed bin Salman bin Abdulaziz Al Saud) มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งซาอุดีอาระเบีย มีพระราชดำรัสตอบว่า ระหว่างที่นายกรัฐมนตรีเดินทางเยือนซาอุดีฯ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้หารือในประเด็นต่างๆ และมีการทำข้อตกลงที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญ ซึ่งผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ระหว่างกันจะทำให้เกิดประโยชน์ร่วมกันอีกมาก โดยซาอุดีฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์และความร่วมมือในด้านต่างๆ กับไทย อาทิ การลงทุน สาธารณสุข และโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น
ทั้งสองฝ่ายได้หารือ และติดตามผลการดำเนินการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ และการส่งเสริมความร่วมมือในสาขาที่มีศักยภาพระหว่างกัน ดังนี้
ด้านความร่วมมือทวิภาคี การเชิญซาอุดีอาระเบียเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ปี 2565 ในฐานะแขกพิเศษ โดยเห็นถึงการมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเป็นการแสดงถึงความจริงใจของไทยที่จะร่วมส่งเสริมความร่วมมือทั้งในกรอบทวิภาคีและพหุภาคี ที่ไทยสามารถเป็นหุ้นส่วนของซาอุดีอาระเบียในภูมิภาคได้ โดยต่างยินดีที่ไทยและซาอุดีฯ มีการเยือนระดับสูงอย่างต่อเนื่องในปีที่ผ่านมา
รวมถึงการจัดทำแผนการขับเคลื่อนและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีไทย – ซาอุดีอาระเบีย และบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดีฯ – ไทย เพื่อเป็นรากฐานในการดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือและเป็นกลไกติดตาม ซึ่งผู้นำทั้งสองต่างขอให้นำแผนดังกล่าวไปปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ด้านเศรษฐกิจ ไทยย้ำความพร้อมที่จะสนับสนุนในด้านความมั่นคงทางอาหาร สาธารณสุข อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (Mega-projects) ต่าง ๆ ในซาอุดีอาระเบีย รวมถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ไทยพร้อมร่วมมือในด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะข้อริเริ่มซาอุดีอาระเบียตามวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย (Saudi Vision 2030) ซาอุดีฯ สีเขียวและตะวันออกกลางสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจ BCG ของไทย
โดยซาอุดีฯ ให้ความสำคัญกับการลงทุนในไทย ซึ่งด้วยวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบียจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทย และภาคเอกชนของไทยในการส่งเสริมการค้า การลงทุนให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โอกาสนี้ ไทยและซาอุดีฯ ยังเห็นพ้องส่งเสริมความร่วมมือด้านพลังงาน โดยไทยพร้อมร่วมกับซาอุดีฯ ขับเคลื่อนความร่วมมือตามเอกสาร White Paper ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
และในด้านแรงงาน ทั้งสองฝ่ายมุ่งกระชับความร่วมมือ โดยซาอุดีฯ มองว่า แรงงานไทยถือเป็นแรงงานที่มีฝีมือติดอันดับต้นๆ ของโลก พร้อมได้เชิญชวนแรงงานไทยให้ไปทำงานที่ซาอุดีฯ ซึ่งจะมีโอกาสที่ดีสำหรับแรงงานไทยอีกมาก
ด้านสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ไทยยินดีที่การเดินทางไปมาระหว่างกันมีความสะดวกยิ่งขึ้น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฝ่ายซาอุดีฯ สำหรับทุนการศึกษาประจำปีแก่นักเรียนและนักศึกษาของไทย หวังว่าจะมีความร่วมมือกันมากขึ้น พร้อมได้กล่าวเสนอให้มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา ในสาขาอาหารและโภชนาการ (อาหารฮาลาล) การเกษตร ปิโตรเคมี การก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการผลิต
ภายหลังจากการหารือข้อราชการ นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูลเชิญมกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ทรงเป็นสักขีพยานร่วมในพิธีแลกเปลี่ยนเอกสาร จำนวน 5 ฉบับ ได้แก่
1. ข้อตกลงความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย กับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย
2. บันทึกความเข้าใจการจัดตั้งสภาความร่วมมือซาอุดี – ไทย
3. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
4. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการส่งเสริมการลงทุนโดยตรง ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย
และ5. บันทึกความเข้าใจระหว่างองค์กรกากับดูแลและต่อต้านการทุจริต ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ณ โถงตึกสันติไมตรี ก่อนเข้าร่วมงานถวายพระกระยาหารค่ำ
ครับ การเสด็จพระราชดำเนินเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ของ มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ หลังยุติความสัมพันธ์กันมากว่า 30 ปี ซึ่งการประกาศลงทุนในไทย และการเปิดรับแรงงานไทย และการร่วมมือในโครงการสำคัญๆ ในซาอุ จะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจ และบทบาทของไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก รวมทั้งไทยจะเพิ่มโอกาสของไทย ในตะวันออกกลาง ด้านการค้า การลงทุน มากขึ้น ครับ