นายกฯ หารือ ปธน.เวียดนาม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ เวียดนามลั่น ไทยคือเพื่อนที่ใกล้ชิดที่เวียดนามให้ความสำคัญ และเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
16 พฤศจิกายน 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ในโอกาสการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
นายกรัฐมนตรียินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ให้การต้อนรับประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก และคณะผู้แทนเวียดนามที่เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งการเยือนครั้งนี้มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการเยือนไทยครั้งแรกภายหลังเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนาม และเป็นการเยือนไทยของประมุขแห่งรัฐของเวียดนามครั้งแรกในรอบ 24 ปี ซึ่งไทยและเวียดนามจะต้องจับมือกันเพื่อก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างเข้มแข็ง พร้อมยินดีที่ทั้งสองประเทศจะเปิดศักราชใหม่ของความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยเฉพาะในโอกาสที่ปีหน้าจะครบรอบ 10 ปีของการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์
ด้านประธานาธิบดีเวียดนามขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนชาวไทยที่ให้การต้อนรับอย่างเป็นเกียรติและเปี่ยมไปด้วยมิตรไมตรีที่อบอุ่นของความเป็นพี่น้องกัน ซึ่งที่ผ่านมา เวียดนามและไทยได้ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรมขึ้นในหลาย ๆ ด้าน ซึ่งไทยคือเพื่อนที่ใกล้ชิดที่เวียดนามให้ความสำคัญสามารถหารือเพื่อสร้างสรรค์ความร่วมมือ สร้างสันติภาพ และความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ ทั้งในกรอบของอาเซียน ภูมิภาคและโลก พร้อมยินดีกับการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทย ซึ่งเวียดนามยินดีสนับสนุนความร่วมมือเพื่อให้การประชุมเอเปคในครั้งนี้ประสบความสำเร็จ
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีและประธานาธิบดีเวียดนามได้หารือในประเด็นความร่วมมือต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่
นายกฯ หารือ ปธน.เวียดนาม ในโอกาสเยือนไทยอย่างเป็นทางการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้การต้อนรับ นายเหวียน ซวน ฟุก ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
ด้านการเมืองและความมั่นคง ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ไทยและเวียดนามมีการแลกเปลี่ยนการเยือนและหารือระดับสูงอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีอุปสรรคในสถานการณ์โควิด-19 โดยล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้ต้อนรับรองประธานาธิบดีเวียดนาม เยือนไทยเมื่อเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ยังได้มีโอกาสพบปะกับนายกรัฐมนตรีฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีหวังว่าจะได้เยือนเวียดนามเพื่อร่วมการประชุมนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการ (JCR) ครั้งที่ 4
โดยวันที่ 17 พ.ย.จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมด้านความมั่นคงไทย – เวียดนาม ครั้งที่ 4 ที่กระทรวงกลาโหม โดยเห็นพ้องที่จะจัดการประชุมคณะทำงานร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคง (JWG on PSC) ครั้งที่ 12 ในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า ซึ่งประธานาธิบดีฯ เสนอให้กระชับความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือระหว่างประเทศ ตลอดจนการดูแลความมั่นคงด้านการประมงที่คำนึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเลด้วย
ด้านเศรษฐกิจ ไทยและเวียดนามเป็นคู่ค้าที่สำคัญระหว่างกันในอาเซียน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเร่งอนุญาตการนำเข้า – ส่งออกสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรประเภทผัก ผลไม้ ข้าว และสินค้าปศุสัตว์และเร่งรัดจัดทำความตกลงและกลไกเจรจาด้านการเกษตรระหว่างกัน โดยทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะอำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคการขนส่งสินค้าจากไทยผ่านเวียดนามไปประเทศที่สาม รวมทั้งเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพัฒนาความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสินค้าอุตสาหกรรมที่สำคัญอื่น ๆ อาทิ ชิ้นส่วนยานยนต์ ยาและเวชภัณฑ์ ด้านการลงทุน ทั้งสองฝ่ายพร้อมสนับสนุนนักลงทุนให้เข้ามาทำธุรกิจระหว่างสองประเทศ พร้อมยินดีกับการจัดตั้งหอการค้าไทยในเวียดนาม หรือ ThaiCham เมื่อปี 2564 ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ด้านประธานาธิบดีเวียดนามเห็นว่า ทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้ารายใหญ่ซึ่งกันและกัน จำนวนกว่า 18,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 645,480,000,000.00 บาท พร้อมชื่นชมที่ทั้งสองฝ่ายมีเสถียรภาพมากในการเพิ่มมูลค่าสินค้าต่างตอบแทน และยินดีที่จะขยายธุรกิจด้านพลังงานสีเขียว รวมทั้งโลจิสติกส์
ในส่วนของการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจในด้านอื่น ๆ ได้แก่ ด้านคมนาคม – ทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาเพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมระหว่างไทยกับเวียดนามในทุกด้านทางบก ผ่านการปรับปรุงถนน R12 ใน สปป. ลาว และการจัดทำความตกลงเดินรถโดยสารไทย – ลาว – เวียดนาม และทางน้ำผ่านความตกลงเดินเรือชายฝั่งไทย – กัมพูชา – เวียดนาม ด้านเศรษฐกิจดิจิทัล – ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารแห่งชาติเวียดนามได้เริ่มพัฒนาการเชื่อมโยงเศรษฐกิจดิจิทัลผ่านระบบ QR code ระหว่างกัน โดยในอนาคตทั้งสองฝ่ายจะใช้ประโยชน์จากศักยภาพด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเงิน e-commerce ด้าน 5G และ 6G
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวทาง Three Connects ใน 3 ด้าน ได้แก่
1. การเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานหรือ supply chain ในอุตสาหกรรมที่เกื้อกูลกัน
2. การเชื่อมโยงเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น โดยเฉพาะระหว่างภาคอีสานของไทย กับภาคกลางและภาคใต้ของเวียดนาม
3. การเชื่อมโยงนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวที่ยั่งยืน ผ่านการประสานนโยบายระหว่าง โมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยกับยุทธศาสตร์การเติบโตสีเขียวของเวียดนาม ประธานาธิบดีเห็นพ้องกับนายกรัฐมนตรี และยินดีที่จะส่งเสริมผลิตผลข้าวเพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันในภูมิภาค
ครับ ไทยและเวียดนาม เป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิด และเป็นตลาดการค้าการลงทุนที่สำคัญของไทย การกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้น จะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่ายครับ