มาติดตามความคืบหน้าเรื่องการสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ ของไทยกันบ้าง หลังเป็นข่าวฮือฮาเมื่อปี 2563 ล่าสุด รมว.การอุดมศึกษา หารือเกาหลีใต้ เรื่อง การสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ ยันประเทศไทยพร้อม เป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการสร้าง พร้อมทั้ง ร่วมกันสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
4 พ.ย. ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วยผู้บริหารจากกระทรวง อว.และ ดร.วิชชุ เวชชาชีวะ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโซล เข้าเยี่ยมคารวะและหารือกับ นายลีจองโฮ (Mr. Lee Jong Ho) รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในการสร้างร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า หลังการหารือ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เปิดเผยว่า ตนและนายลีจองโฮ ได้ตกลงร่วมกันในการสร้างร่วมมือทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงและการสร้างงานวิจัยขั้นแนวหน้า ใน 5 ประเด็นสำคัญ
รมว.การอุดมศึกษา หารือเกาหลีใต้ เรื่อง การสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ
คือ 1. งานทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ โดยจะเน้นความร่วมมือทางด้านการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้าทางด้านเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงการสร้างเศรษฐกิจและระบบนิเทศทางด้านอวกาศ ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้
2. การเจรจาหารือเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ถึงเรื่องการสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ (Spaceport) โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางของอาเซียนในการสร้างและมีความร่วมมือร่วมกันต่อไป
3. งานทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเกี่ยวกับทางด้านการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นทางด้านการบริการการแพทย์เป็นเลิศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศเกาหลีใต้มีความโดดเด่นทางด้านแพลตฟอร์มของเทคโนโลยีดิจิทัล โดยประเทศไทยและเกาหลีใต้ สามารถที่จะมีความร่วมมือกันได้เป็นอย่างดีในอนาคต
4. งานทางด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ เน้นการสร้างองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมและภาคเอกชน เพื่อร่วมมือกันสร้างและใช้ประโยชน์ จากเทคโนโลยีนิวเคลียร์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
และ 5. งานทางด้านการจัดการกับปัญหาภาวะเรือนกระจก เพื่อลดภาวะโลกร้อน โดยเน้นการพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า เพื่อที่จะมาแก้ไขปัญหา และในอนาคตไทยและเกาหลีใต้ ยังมีแผนในการสร้างความร่วมมือกันต่อไป
รายงานข่าวระบุอีกว่า ประเทศไทยมุ่งหวังที่จะเป็นสะพานเชื่อมทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดย รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตอบรับถึงความพร้อมของสาธารณรัฐเกาหลีที่จะร่วมมือในการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกับประเทศไทยและประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่อไป
สำหรับการสร้างสถานีปล่อยยานอวกาศ (Spaceport) โดยประเทศไทยนั้นอเนก เหล่าธรรมทัศน์ เคยระบุ เมื่อปี 2563 ว่า จ.นราธิวาส เหมาะสุด เพราะเป็นพื้นที่เหมาะสม 1 ใน 7 แห่งของโลก เนื่องจากอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมีทะเลขนาบข้างทั้ง 2 ฝั่งคืออ่าวไทยและอันดามัน
อย่างไรก็ตามแนวโน้มการพัฒนาด้านอวกาศไทยในตอนนี้โครงการที่ใหญ่ ที่เรียกว่า Thai Space Consortium ซึ่งนำโดย GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) , NARIT (สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ) และ SLRI (สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน) ในการพัฒนาดาวเทียมวิทยาศาสตร์ของคนไทย ซึ่งน่าจะเป็นก้าวย่างสำคัญในการนำไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้ต่อไป
อีกทั้งเมื่อปี 2564 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศแล้ว ซึ่ง จะช่วยให้ประเทศไทยมีความพร้อมและรองรับการสร้างเศรษฐกิจอวกาศ หรือ New Space Economy ได้
ครับด้านเทคโนโลยีอวกาศ นับว่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ หากประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยการร่วมกับประเทศที่มีศักยภาพอย่างเกาหลีใต้ ก็จะช่วยยกระดับเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และภาพลักษณ์ของประเทศได้แบบก้าวกระโดดครับ