ลุยสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 -เปิดใช้ปี 67

285

 

ไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) กันบ้าง ล่าสุด จังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับ คณะผู้บริหาร สปป.ลาว ลงพื้นที่เขตก่อสร้างโครงการนี้ วางแผนเตรียมพื้นที่จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ 28 ต.ค. 65 นี้ ตามแผนโครงการจะเปิดบริการภายในปี 2567 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

18 ตุลาคม 2565 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดีกรมทางหลวง พร้อมด้วย คณะ และนายบัวจัน อวนสะหวัน รองอธิบดีกรมขัวทาง พร้อมคณะผู้บริหาร สปป.ลาว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมสำรวจท่าเรือ ณ บริเวณก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ) ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ พร้อมทดลองลงเรือข้ามแม่น้ำโขงไปยังฝั่ง สปป.ลาว และสำรวจความพร้อมพื้นที่จัดงานฝั่งไทยและพื้นที่จัดงานฝั่ง สปป.ลาว

จากนั้นร่วมกันประชุม ณ ห้องประชุมแขวงทางหลวงบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ เพื่อเตรียมความพร้อมกับคณะผู้บริหารจากฝั่งไทยและผู้บริหารจากฝั่ง สปป.ลาว คณะผู้จัดงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานความมั่นคง ในการจัดงานพิธีวางศิลาฤกษ์สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ที่จะเกิดขึ้นในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2565 นี้

 

การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)/Cr.ภาพ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบึงกาฬ

มีรายงานเพิ่มเติมใน ข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์ ว่า โครงการสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ 5 มีวงเงินก่อสร้าง 3,653,121,512 บาท ร่วมลงทุนโดยรัฐบาลไทย 2,500,743,850 บาท และรัฐบาล สปป.ลาว 1,152,377,662 บาท แบ่งความรับผิดชอบการก่อสร้างจากกึ่งกลางสะพาน โดยก่อสร้างมาแล้วประมาณ 2 ปียังไม่ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ เนื่องจากติดปัญหาโควิด-19 ปัจจุบันความคืบหน้าในภาพรวมทั้งฝั่งไทยและฝั่งลาวอยู่ที่ 56.945% จากแผนงาน 57.801% ช้ากว่าแผน 0.855%

โดยตามแผนจะเปิดบริการภายในปี 2567

สำหรับโครงการสะพานข้ามแม่น้ำโขง แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – ปากซัน) เป็นการพัฒนาโครงข่ายเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion: GMS) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง(Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy : ACMECS) ระหว่าง
ประเทศเพื่อนบ้าน กัมพูชา – สปป.ลาว – สหภาพเมียนม่าร์ – ไทย – เวียดนาม

ซึ่งการเชื่อมสะพาน จะเป็นการเชื่อมโยงเส่นทางการคมนาคมและขนส่งระหว่างประเทศไทย กับ สปป .ลาว  ให้สะดวกสบายขึ้น   และยังจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนระหว่างประเทศ ของประเทศในพื้นที่แถบลุ่มน้ำโขง อีกด้วยครับ