ไปติดตามเหตุพายุโนรู ลดความรุนแรงในประเทศไทย กันบ้าง เรื่องนี้ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ชี้ สาเหตุที่ “พายุโนรู” สลายตัวเร็วในประเทศไทย เหตุเพราะมีเทือกเขา “อันนัม”ในเวียดนาม ลาว เป็นเกราะคุ้มครอง พร้อมระบุ คนไทยโชคดีที่ตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังเทือกเขา อันนัม เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 65 เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์เผยสาเหตุที่ “พายุโนรู” สลายตัวเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากกว่านี้ โดยระบุไว้ว่า “พายุหมุนเกิดในทะเล ตายในเทือกเขา นี่คือประโยคสั้นๆ แต่ตนคิดว่าอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยดีสุด “โนรู” ที่รุนแรงตอนขึ้นฝั่ง อ่อนแรงลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประเทศไทยไม่เดือดร้อนมากไปกว่านี้ แล้วโนรูตายที่ไหน? คำตอบคือพายุหมดแรงบน “อันนัม” เทือกเขาที่เป็นเสมือนเกราะคุ้มครองไทย
อันนัมไม่ได้อยู่ในเมืองไทยด้วยซ้ำ เทือกเขาอยู่ในเวียดนาม ในลาว และมีส่วนปลายอยู่ในเขมร แต่เทือกเขายาว 1,100 กิโลเมตร สูงถึง 2,800 เมตร คือปราการธรรมชาติที่ปกป้องประเทศไทยมาหลายครั้งครา อันนัมทอดยาวขนานชายฝั่งเวียดนาม แบ่งเขตชายฝั่งออกจากลุ่มน้ำแม่โขงที่อยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินทุกครั้งที่มีไต้ฝุ่นหรือพายุใหญ่เข้ามาทางเวียดนาม อันนัมหยุดแรงลมไว้ ทำให้พายุที่เกรี้ยวกราดลดความแรงลมเหลือเพียงดีเปรสชัน แม้ฝนจะตกอยู่ แต่แรงลมเบาลงมาก ความชื้นในอากาศส่วนหนึ่งถูกกักเก็บไว้
อันนัมยังเป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ ป่าดิบชื้นเรื่อยจนถึงป่าดิบเขาที่สำคัญในอินโดจีน เป็นถิ่นที่อยู่ของ “เสาลา” แอนทีโลปหายากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก พบเฉพาะแถวอันนัมตอนเหนือ ในลาวและเวียดนาม
อันนัมยังป้อนน้ำให้ลำโขง ทำให้ผู้คนในลาวและเขมรมีความสุข และนั่นคือเรื่องที่อยากเล่าให้ฟังถึงปราการแห่งอินโดจีนเทือกเขาที่มีความหมายมากมายต่อไทยและจะยิ่งทวีความสำคัญ เมื่อโลกร้อนขึ้น เมื่อสภาพอากาศสุดขั้วแรงขึ้น อันนัมยังคงตั้งตระหง่าน และคนไทยโชคดีเหลือเกินที่เราตั้งถิ่นฐานอยู่เบื้องหลังอันนัม”
ครับ ประเทศไทย ตั้งอยู่ในชัยภูมิที่ดี มีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องขอบคุณบรรพบุรุษของไทย ที่ได้เลือกชัยภูมิแห่งนี้ และได้ปกป้อง เป็นมรดกตกทอดมาถึงลูกหลาน ครับ