แนะไทยอย่าอิงกองทัพเมียนมาฝ่ายเดียว

405

ไปติดตามกรณีทหารเมียนมาใช้น่านฟ้าไทยในการปฏิบัติการโจมตีฝ่ายต่อต้านกันต่อ ล่าสุด นักวิชาการรัฐศาสตร์ชี้ ไทยกำลังตกเป็นจำเลยในเวทีระหว่างประเทศ ที่ให้ผู้นำทหารเมียนมาใช้ไทยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ พร้อมชี้รัฐบาลไทยต้องสร้างความกระจ่างในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่อยไปจนถึงความสามารถในการคุ้มครองน่านฟ้าไทย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

กรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่โซเชียลชาวเมียนมา ต่อทางการไทยว่าไม่ได้ใช้ความพยายามเพียงพอที่จะห้ามไม่ให้ ทหารเมียนมาใช้น่านฟ้าไทยในการปฏิบัติการ ล่าสุด 7 ก.ค.65 สำนักข่าว bbc ภาคภาษา thai ได้สัมภาษณ์ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข แห่งคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ต่อท่าทีของไทยในเรื่องนี้ โดย ศ. ดร.สุรชาติ ชี้ว่าไทยกำลังตกเป็นจำเลยในเวทีระหว่างประเทศที่มองว่า “รัฐบาลที่มีผู้นำเป็นทหาร เปิดโอกาสให้ผู้นำทหารเมียนมาใช้ไทยเป็นพื้นที่ปฏิบัติการ”

และเห็นว่า รัฐบาลไทยต้องสร้างความกระจ่างในหลายประเด็น ตั้งแต่ตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เรื่อยไปจนถึงความสามารถในการคุ้มครองน่านฟ้าไทย การตอบสนองที่ล่าช้าของระบบป้องกันทางอากาศ ซึ่งทำให้มองได้ว่าไทยเปิดช่องให้ทหารเมียนมาปฏิบัติการต่อชนกลุ่มน้อย รวมทั้งความเคลือบแคลงสงสัยในเรื่องจุดยืนประชาธิปไตยของไทย

และว่า กองทัพไทยและเมียนมาเป็นมิตรที่ใกล้ชิดกัน แต่หากมองต่อไปอนาคต รัฐบาลไทยต้องเข้าใจว่า “ไม่มีรัฐบาลทหารไหนที่อยู่ถาวร”

ทั้งนี้ กองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลเมื่อเดือน ก.พ.2564 (2021) และตลอดเวลาที่ผ่านมาได้มีการปราบปรามฝ่ายที่เห็นต่างและชนกลุ่มน้อยอย่างต่อเนื่อง

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงท่านนี้แนะให้รัฐบาลไทยเรียนรู้จากเมื่อครั้งที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ได้รับเลือกตั้ง นางออง ซาน ซูจี ประธานพรรค ไม่เห็นดีเห็นงามกับรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนมาในอดีต เนื่องจากไทยทุ่มความสัมพันธ์ไปกับฝ่ายทหารเป็นหลัก

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ต้อนรับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาค 3 ของกองทัพไทย  และคณะทหารไทย ที่กรุงเนปยีดอ/photo credit:gnlm.com.mm

“นั่นเป็นบทเรียนว่าช่วงที่ผ่านมาเราทุ่มความสัมพันธ์ไว้กับการเมืองแบบฝ่ายเดียว แล้วพอการเมืองในเมียนมาเปลี่ยน เราเหมือนจะกลับตัวไม่ทัน  มันต้องคิดเผื่ออนาคตไว้บ้าง ไม่มีรัฐบาลทหารที่ไหนที่อยู่ถาวร เราได้เห็นปรากฏการณ์โลกอย่างอาหรับสปริง

แล้วถ้าวันหนึ่งเราได้เห็นเมียนมาสปริง เห็นรัฐบาลเอ็นยูจี (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) เกิด แปลว่าเราจะเห็นชนกลุ่มน้อย เห็นคนหนุ่มสาวจับมือกันแน่นเพื่อสร้างประชาธิปไตย แล้วรัฐบาลประชาธิปไตยเกิดในเนปิดอว์ แล้วเราจะจัดความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับเนปิดอว์ใหม่ยังไง”

นักวิชาการท่านนี้ยังเห็นว่าในฐานะที่ไทยเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันถึงกว่า 2,000 กม. หากเกิดสถานการณ์ใด ๆ ในเมียนมา ไทยจะได้รับผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้

“เป็นไปได้ไหมที่ไทยจะยอมรับว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบกับภาพลักษณ์ของประเทศ และออกมาแสดงบทบาทให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากกว่าที่เป็นอยู่ การเปิดพรมแดนให้คนบาดเจ็บเข้ามาหลบภัยสงครามเป็นสิ่งที่ควรทำ”
โดยก่อนหน้านี้ 30 มิ.ย. 2565 สื่อ“โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมา” ของทางการเมียนมา รายงาน ว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย หัวหน้าคณะรัฐประหาร ได้ต้อนรับ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาค 3 ของกองทัพไทย ที่รับผิดชอบ ดูแล ชายแดนติดไทย-เมียนมา ที่กรุงเนปยีดอ
โดยได้มีการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นในการยกระดับมิตรภาพที่เป็นอยู่ และความร่วมมือกองกำลังทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้ง ความมั่นคงพื้นที่ชายแดน เช่น การปราบปรามการค้ายาเสพติด เป็นต้น

ในขณะที่สื่อ the irrawaddy รายงานเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ยังคงมีความสัมพันธ์อันอบอุ่นกับระบอบการปกครองทหารเมียนมา

ครับ ไทยกับเมียนมา นั้น เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิด อย่างไรก็ยกประเทศหนีกันไม่ได้ ประเทศเมียนมานั้น มีความขัดแย้งภายในสูงอย่างที่ทราบกัน และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น ภายใต้ความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความสัมพันธ์ที่สมดุลต่อทุกฝ่ายของเมียนมา จึงเป็นสิ่งต้องทำ ดีกว่าการไปผูกติดกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งจะทำให้ไทยเสียโอกาสจากความสัมพันธ์แบบนี้ ครับ