เผยโฉม สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของไทย

266

 

ไปติดตามข่าว สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของประเทศไทย กันบ้าง ล่าสุด การรถไฟฯ ทำพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของประเทศไทย และจะเป็นแลนด์มาร์คแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี ในโครงการรถไฟทางคู่สายใต้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

24 มิถุนายน 2565 ที่ สะพานฝั่งค่ายภาณุรังษี อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี นายจเร รุ่งฐานีย รองผู้ว่าการกลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน การรถไฟแห่งประเทศไทย และนายอุดม เพชรคุต รองผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีเชื่อมต่อสะพานรถไฟช่วงสุดท้ายข้ามแม่น้ำแม่กลอง สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกในประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้ ช่วงนครปฐม–หัวหิน

โดยนายจเร รุ่งฐานีย เปิดเผยว่า การสร้างสะพานรถไฟแบบขึงข้ามแม่น้ำแม่กลอง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงนครปฐม-หัวหิน สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล โดยได้มีการสร้างสะพานรถไฟคู่ขนานกับสะพานรถไฟเดิมหรือสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ เพื่อรองรับการให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้

 

พร้อมกับมีการออกแบบด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมพิเศษให้โครงสร้างสะพานรถไฟใช้คานขึง ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ฝั่ง แทนรูปแบบเดิมที่มีตอม่อกลางแม่น้ำ เนื่องจากก่อนที่จะมีการก่อสร้างสะพานรถไฟดังกล่าว การรถไฟฯ ได้ทำการสำรวจพื้นที่แล้วพบวัตถุระเบิดสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ขนาด 1,000 ปอนด์ จำนวน 7 ลูก จมอยู่ในแม่น้ำแม่กลองบริเวณใต้สะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ตรงกับแนวเขตการก่อสร้างสะพานรถไฟ

หากจะก่อสร้างสะพานในรูปแบบเดิม จำเป็นต้องมีการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิดออกจากพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตราย ดังนั้น จึงได้ให้ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการฯ ปรับเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างสะพานรถไฟใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงจากวัตถุระเบิด จึงเป็นที่มาของรูปแบบการสร้างสะพานรถไฟแบบขึง (Extradosed Bridge) หรือ เรียกสั้นๆ ว่า “สะพานขึง” ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอพระราชทานชื่อสะพาน

สำหรับสะพานขึงนี้มีความยาวทั้งสิ้น 340 เมตร แบ่งเป็น 3 ช่วงสะพาน โดยช่วงสะพานที่ข้ามแม่น้ำแม่กลองเป็นช่วงที่มีความยาวมากที่สุดคือ 160 เมตร และมีความสูง 16 เมตร การออกแบบโครงสร้างสะพานเป็นแบบผสมคานคอนกรีตสมดุล (Balance Centilever) ซึ่งเป็นรูปแบบสะพานที่มีการใช้สายเคเบิลร้อยเข้ากับเสาหลักโดยตรง ด้วยเทคนิคทางวิศวกรรมเพื่อขึงช่วยรับน้ำหนัก (Tension cable) ทำให้ลดจำนวนตอม่อที่รองรับน้ำหนักลงได้

ถือได้ว่าเป็นสะพานรถไฟที่ใช้คานขึงแห่งแรกที่ก่อสร้างขึ้นในประเทศไทย และหลังจากการเชื่อมต่อสะพานช่วงสุดท้ายบรรจบสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองแล้ว เจ้าหน้าที่จะดำเนินงานก่อสร้างด้านโยธาเป็นลำดับถัดไป

นายจเร กล่าวต่อว่า เมื่อดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ สะพานรถไฟแบบคานขึงข้ามแม่น้ำแม่กลองจะกลายเป็นแลนด์มาร์คท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดราชบุรี เนื่องจากมีรูปลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นจากสะพานรถไฟอื่นๆ ทั่วไป

อีกทั้งยังมีการสร้างคู่ขนานกับสะพานรถไฟจุฬาลงกรณ์ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์มายาวนาน ตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ที่โปรดให้มีกิจการรถไฟสายใต้ และได้ก่อสร้างทางรถไฟเชื่อมจากสถานีรถไฟบางกอกน้อยไปถึงสถานีรถไฟเพชรบุรี จึงโปรดให้มีการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลอง พร้อมพระราชทานนาม “สะพานจุฬาลงกรณ์” เมื่อปี พ.ศ. 2444

พร้อมระบุว่า การรถไฟฯ มุ่งหวังว่า การเปิดให้บริการสะพานรถไฟข้ามแม่น้ำแม่กลอง ควบคู่กับการเปิดเดินรถไฟทางคู่เส้นทางสายใต้นั้น

นอกจากจะช่วยอำนวยความสะดวกการเดินทางขนส่งคมนาคมแก่ผู้โดยสาร ด้วยรถไฟเพิ่มแล้ว

ยังเป็นการทำให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยว ตลอดจนสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่พี่น้องประชาชนในชุมชนพื้นที่ใกล้เคียงทางรถไฟ ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น อันเป็นการช่วยกระจายรายได้ และสร้างความเข้มแข็งต่อเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

ครับ สะพานรถไฟแบบขึงแห่งแรกของประเทศไทย นี้ นอกจากเพื่อความปลอดภัยแล้ว ก็คาดว่า จะช่วยเสริมการท่องเที่ยว และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้กับประชาชนในพื้นที่อีกด้วยครับ/