ทูตจีนลงพื้นที่อัพเดท รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช

312

 

มาติดตามโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช กันบ้าง ล่าสุดเอกอัครราชทูตจีน ลงพื้นที่ชมไซต์งานก่อสร้าง ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราชงานสัญญาที่ 4-3ช่วงนวนคร-บ้านโพ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อติดตามความคืบหน้าของโครงการพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 มีรายงานจาก สำนักข่าว ch-newsthailand ว่า นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย พร้อม นายหวัง ลี่ผิง อัครราชทูตที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจและพาณิชย์ และคณะ เยี่ยมชมความคืบหน้าไซต์ก่อสร้าง ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราชงานสัญญาที่ 4-3 ตำบลเชียงรากน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โดยงานสัญญาที่ 4-3 นี้ กิจการร่วมค้า ซีเอเอ็น หรือ CAN JOINT VENTURE ซึ่งประกอบไปด้วย 1.ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด (CSCEC) 2.บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด (AS) และ 3.บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ หรือ NWR ได้ร่วมลงนานในสัญญาก่อสร้างกับ การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

เอกอัครราชทูตจีน ลงพื้นที่ชมไซต์งานก่อสร้าง ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราชงานสัญญาที่ 4-3ช่วงนวนคร-บ้านโพ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา /Cr.ภาพ ch-newsthailand

 

รายละเอียดงานประกอบด้วย 1.งานก่อสร้างโครงสร้างทางรถไฟยกระดับระยะทางรวม 23 กิโลเมตร2.งานก่อสร้างทางวิ่งเข้าศูนย์ซ่อมบำรุง 3.งานอาคารและสิ่งปลูกสร้างรองรับงานระบบรถไฟฟ้า4.งานระบบระบายน้ำ งานรื้อย้ายรางระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และงานอื่นๆ ที่จำเป็น สำหรับโครงการ มีมูลค่าโครงการรวม 11,525.35 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะสิ้นสุดสัญญาวันที่ 16 ส.ค. 2567

โดยอัครราชทูตฯ พร้อมคณะ ได้เข้ารับชมฟังบรรยายความคืบหน้าของโครงการพร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหารของบริษัทผู้รับเหมาในสัญญาที่ 4-3 นี้

สำหรับความคืบหน้าโครงการนี้ เมื่อ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าโครงการระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทางประมาณ 253 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 6 สถานี ประกอบด้วย สถานีกลางบางซื่อ สถานีดอนเมือง สถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง และสถานีนครราชสีมา แบ่งสัญญางานโยธาออกเป็น ทั้งหมด 14 สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 9 สัญญา เตรียมการก่อสร้าง 1 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 3 สัญญา

โดยรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน จะใช้ระบบรถไฟใช้ประเภทรถโดยสาร EMU (Electric Multiple Unit)(เป็นรถไฟที่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองโดยใช้พลังงานไฟฟ้า ) กำลังขับเคลื่อนสูงสุด 5,200 กิโลวัตต์ มีความจุของขบวนรถ 600 ที่นั่งต่อขบวน ที่ความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา 1 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งถือเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว

สำหรับโครงการนี้ มีแผนเปิดบริการในปี 2569 หากแล้วเสร็จจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทางอีกด้วยครับ