จ่อเปิดช่วงแรก! รถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ

310

 

มาติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ กันบ้าง ล่าสุดมีความคืบหน้าทั้ง 4 สัญญา โดยเฉพาะสัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟยาวประมาณ 5.20 กิโลเมตร ถือเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย คืบหน้าแล้วร้อยละ 80 พร้อม เตรียมเปิดการเดินรถไฟทางคู่ในช่วงแรกตั้งแต่สถานีซับม่วง สถานีจันทึก และสถานีคลองขนานจิตร เรื่องนี้ น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

18 มิถุนายน 2565 มีรายงานข่าวจาก กรมการขนส่งทางราง ว่า เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ โดยมีนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้าง เขต 2 ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานและบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างให้การต้อนรับ
สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ แบ่งเป็น 4 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร (เป็นโครงสร้างระดับพื้นดิน 30 กิโลเมตร และทางรถไฟยกระดับ ประมาณ 5 กิโลเมตร) มีความคืบหน้าร้อยละ 94.63 โดยงานก่อสร้างบางส่วน เช่น สถานีมวกเหล็กใหม่ สถานีปางอโศก และทางยกระดับบริเวณอำเภอมวกเหล็ก ก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว

 

สถานีมวกเหล็กใหม่ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ/Cr.ภาพ fb กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม

 

สำหรับสถานีมวกเหล็กใหม่ เป็นสถานีขนาดกลาง ระดับดิน มีการออกแบบตามมาตรฐาน universal design รองรับผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม โดยออกแบบให้มีชานชาลายกระดับประมาณ 10 เมตรจากระดับพื้น มีความยาว 400 เมตร มีบันไดทางขึ้นลง และลิฟต์เพื่อบริการระหว่างชานชาลา up track และ down track ระบบการจำหน่ายบัตรโดยสารมี 2 ระบบ คือ ระบบจำหน่ายบัตรโดยสารปกติ และระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสถานีเป็นระบบปิด (มีระบบเครื่องกั้นเข้าออกในตัวสถานีคล้ายๆ กับรถไฟฟ้า) โดยสถานีมวกเหล็กเดิมจะปรับเป็นที่หยุดรถ

สัญญาที่ 2 ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ รฟท. อยู่ระหว่างการปรับแบบร่วมกับโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา

สัญญาที่ 3 งานอุโมงค์รถไฟ จำนวน 3 อุโมงค์ มีความคืบหน้าร้อยละ 91.057

โดยอุโมงค์ที่ 1 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีมาบกะเบา สถานีผาเสด็จ และสถานีหินลับ จังหวัดสระบุรี มีลักษณะเป็นอุโมงค์คู่ ทางเดี่ยว มีความกว้างประมาณ 7.50 เมตร สูงประมาณ 8.50 เมตร และยาวประมาณ 5.20 กิโลเมตร ถือเป็นอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 80

 

อุโมงค์ที่ 2 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีหินลับ และสถานีมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี มีความยาว 250 เมตร ปัจจุบันมีความคืบหน้าร้อยละ 98

และอุโมงค์ที่ 3 ตั้งอยู่ระหว่างสถานีคลองขนานจิตร อำเภอปากช่อง และสถานีคลองไผ่ อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา มีความยาวประมาณ 1.17 กิโลเมตร มีความคืบหน้าร้อยละ 81
สัญญาที่ 4 ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม มีความคืบหน้าร้อยละ 12.671

โดย รฟท. เตรียมเปิดการเดินรถทางคู่ในช่วงแรกตั้งแต่สถานีซับม่วง สถานีจันทึก และสถานีคลองขนานจิตร และจะทยอยเปิดเดินรถในช่วงอื่นๆ ตามความพร้อม

โดยก่อนหน้านี้มีรายงานจากสื่อว่า คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการเดินรถในช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ได้ก่อนในปี 2566

ขณะที่ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จปลายปี 2568 เปิดให้บริการปลายปี 2569 ซึ่งล่าช้ากว่าแผนเดิมของ รฟท. ที่มีเป้าหมายจะเปิดให้บริการทั้งโครงการในปี 2565

โดยลักษณะและที่ตั้งของโครงการ จุดเริ่มต้น : สถานีมาบกะเบา บริเวณ กม.134+250 จุดสิ้นสุด : สถานีชุมทางถนนจิระ บริเวณ กม.268+136

ผ่านพื้นที่ อ.แก่งคอย และ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี อ.ปากช่อง อ.สีคิ้ว อ.สูงเนิน และ อ.เมือง จ.นครราชสีมา

ประกอบก้วย 20 สถานี ได้แก่ มาบกะเบา มวกเหล็กใหม่ ปางอโศก บันไดม้า ปากช่อง ซับม่วง จันทึก คลองขนานจิตร คลองไผ่ ลาดบัวขาว บ้านใหม่สำโรง หนองน้ำขุ่น สีคิ้ว โคกสะอาด สูงเนิน กุดจิก โคกกรวด ภูเขาลาด นครราชสีมา และชุมทางถนนจิระ

ซึ่งประโยชน์ของโครงการนี้ จะช่วลดระยะเวลาการเดินทางและขนส่งในเส้นทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว

ยังจะช่วยกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค ทั้งด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่

และเป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมและระบบขนส่งสาธารณะในพื้นที่โครงการกับระดับภูมิภาค และต่อเนื่องไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ครับ