ญี่ปุ่น ลั่นเต็มที่! ช่วยไทยขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าสู่ปริมณฑล

247

 

มาติดตามความคืบหน้า แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 กันบ้าง ที่ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ได้หารือกับทางJICA ของญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการ พร้อมเตรียมดึง องค์การบริหารส่วนจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ร่วมวางแผน การขยายโครงข่ายรถไฟในเมืองหลักไปยังเมืองที่อยู่รอบๆ ญี่ปุ่น ลั่น ยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

24 พ.ค.65 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง เป็นประธานการประชุมร่วมกับนายโอโนะ โทโมฮิโระ ผู้อำนวยการกลุ่มงานขนส่งแผนกการจัดการโครงสร้างพื้นฐาน จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือ JICA (Japan International Cooperation Agency) พร้อมด้วยคณะทำงานฝ่ายไทย ซึ่งเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งมวลชนทางราง และคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุม

ดร.พิเชฐฯ กล่าวว่า กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ได้ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ JICA และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ JCC เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2564 เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พื้นที่ต่อเนื่อง ระยะที่ 2 หรือ M-MAP2 ให้มีประสิทธิภาพและบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยปัจจุบัน ขร. อยู่ระหว่างดำเนินโครงการศึกษาเพื่อพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบรางและการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (พื้นที่ต่อเนื่อง) ระยะที่ 2

ซึ่งการประชุม JCC ในครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกเพื่อรายงานกรอบการดำเนินโครงการการจัดทำ M-MAP2 รวมถึงความก้าวหน้าของแผนการดำเนินโครงการฯ และการคาดการณ์ความต้องการการเดินทางด้วยระบบรางให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ และร่วมกันพิจารณาในประเด็นดังกล่าว
นายโอโนะ โทโมฮิโระ กล่าวว่า การประชุมในครั้งนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในการหารือและอนุมัติกรอบการดำเนินการของโครงการ แผนงานต่างๆ และ ระยะเวลาดำเนินการของโครงการ สำหรับการประชุม JCC ในครั้งที่จะเกิดขึ้นถัดไป จะเป็นการจัดขึ้นเพื่อติดตามการดำเนินการ หารือ และอนุมัติประเด็นต่างๆ ร่วมกันในโครงการ ผ่านการประสานงานและทำงานร่วมกับหน่วยงานขนส่งสาธารณะซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

นายโอโนะ โทโมฮิโระ มีความเชื่อมั่นว่าการทำงานร่วมกัน จะสามารถร่วมกันพัฒนาแผนแม่บทฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทางฝ่ายญี่ปุ่นยินดีที่จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่
สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการ JCC ครั้งนี้ ที่ประชุมได้มีการเสนอให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานด้านเทคนิคเพื่อพัฒนาโครงข่ายและกำหนดนโยบายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล หรือ M-MAP2 Platform มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนวทาง นโยบาย และวางแผนการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

กรมการขนส่งทางราง ได้หารือกับทางJICA ของญี่ปุ่น เดินหน้าโครงการ พร้อมเตรียมดึง องค์การบริหารส่วนจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ ร่วมวางแผน การขยายโครงข่ายรถไฟในเมืองหลักไปยังเมืองที่อยู่รอบๆ/cr.ภาพ กรมการขนส่งทางราง

โดยมีองค์ประกอบหลักจากผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ เช่น สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หน่วยงานผู้ให้บริการเดินรถ เช่น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หน่วยงานภายใต้กรุงเทพมหานคร เช่น สำนักการจราจรและขนส่ง สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง สำนักการโยธา รวมถึงหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร

โดยคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นมีความเห็นว่า หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นมีความสำคัญอย่างมากต่อการขยายโครงข่ายรถไฟในเมืองหลักไปยังเมืองที่อยู่รอบๆ เนื่องจากรถไฟนอกเมืองของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบัน เกิดขึ้นมาจากการร่วมทุนของหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ เป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างโดยคณะทำงานฝ่ายไทยเห็นด้วยกับแนวคิดของคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่น เนื่องจากเห็นว่าหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยหน่วยงานที่มีความใกล้ชิดกับประชาชนซึ่งจะทราบความต้องการของประชาชน และมีอำนาจหน้าที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาถนนหรือทางเท้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสถานีรถไฟมากยิ่งขึ้น

ดร.พิเชฐฯ ได้กล่าวในตอนท้ายว่า ขอขอบคุณคณะทำงานฝ่ายญี่ปุ่นเป็นอย่างสูงที่ได้ให้คำปรึกษาและความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าในเมืองของประเทศไทยมาโดยตลอด โดยไทยกับญี่ปุ่นนั้น มีความสัมพันธ์ฉันมิตรมาเป็นเวลายาวนาน โดยเฉพาะกรมการขนส่งทางรางที่ผ่านมาเรามีความร่วมมือกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด และมีประเด็นที่ต้องการให้ JICA ช่วยให้คำปรึกษาเพิ่มเติมในประเด็น การเชื่อมต่อระหว่างรถโดยสารสาธารณะและรถไฟฟ้า การเก็บภาษีที่ดิน (Land Value Capture) และการออกแบบระบบขนส่งมวลชนทางรางให้มีสภาพแวดล้อมที่สามารถรองรับผู้โดยสารทุกๆกลุ่ม (Universal design) ทั้งในเรื่องการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และความเท่าเทียมระหว่างเพศต่อไป
ครับ การขยายตัวของเมืองรอบๆ ของกรุงเทพอย่างรวดเร็ว ได้ก่อปัญหาการจราจรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลต่อเนื่องถึงการจราจรในกรุงเทพฯด้วย

ดังนั้น การเร่งพัฒนาโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครอบคลุมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก็จะช่วยแก้ปัญหาการจราจร รวมทั้งการสร้างความสะดวกสบาย อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจสองข้างทางเส้นทางรถไฟฟ้าพาดผ่านอีกด้วยครับ