มาติดตามความคืบหน้า โครงการ Landbridge กันบ้าง ล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้เคาะตำแหน่งท่าเรือ แลนด์บริดจ์ ทั้งในฝั่งระนอง และ ชุมพร แล้ว พร้อมระบุ สามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้เทียบเท่าสิงคโปร์ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
22 เมษายน 2022 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รวค.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ครั้งที่ 2/2565 เพื่อติดตามผลการดำเนินการในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผ่านการประชุมทางไกล (Video Conference)
โดยมีนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
โครงการ Landbridge/Cr.ภาพ landbridgethai.com
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ปรึกษาได้นำเสนอการคัดเลือกพื้นที่ทางเลือกท่าเรือที่เหมาะสมที่สุดฝั่งอันดามัน จังหวัดระนอง คือ พื้นที่แหลมอ่าวอ่าง และฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร คือ พื้นที่แหลมริ่ว เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ฝั่ง เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEU (เป็นหน่วยมาตรฐานที่ใช้วัดขีดความสามารถของเรือสินค้าและท่าเทียบเรือ) ตามผลการคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะเข้ามาที่ยัง Landbridge รวมทั้งยังสามารถขยายท่าเรือในอนาคตให้สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้มากถึง 40 ล้าน TEU เทียบเท่ากับปริมาณสินค้าที่ท่าเรือสิงคโปร์ในปัจจุบัน และอยู่ใกล้กับร่องน้ำลึก รองรับการเข้าใช้งานของเรือบรรทุกสินค้าขนาดใหญ่ และตำแหน่งท่าเรือ ยังสอดคล้องกับผลการศึกษาแนวเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (Motorway) และระบบราง MR8 ชุมพร – ระนอง โดยผลการศึกษาเบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนในระยะเริ่มต้นประมาณ 400,000 ล้านบาท และเมื่อพัฒนาให้รองรับปริมาณสินค้าได้ 20 ล้าน TEUs (TEUs (Twenty-foot) คือ หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาความยาว 20 ฟุต โดยตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต เท่ากับ 1 TEU และตู้คอนเทอนเนอร์ 40 ฟุต เท่ากับ 2 TEU)
หลังจากนี้ได้เร่งรัดเสนอคณะทำงานบูรณาการโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่ง ระหว่างอ่าวไทยและอันดามันกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาในประเด็นผลกระทบกับพื้นที่มรดกโลกและพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไป
ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ได้มีข้อสั่งการให้ สนข. และที่ปรึกษา ศึกษาปริมาณสินค้าและแผนทางการพัฒนาความสามารถในการรองรับสินค้าของโครงการแลนด์บริดจ์ให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้โครงการมีความน่าสนใจ และสามารถแข่งขันกับโครงการการพัฒนาท่าเรือในประเทศต่างๆ เช่น โครงการ East Coast Rail Link (ECRL) และโครงการมะละกาเกตเวย์ ในประเทศมาเลเซีย และโครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา รวมถึงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหลังท่าให้เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการค้า และอุตสาหกรรมครบวงจร ได้แก่ เขตส่งเสริมธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น การธนาคาร การประกันภัย เป็นต้น เขตส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมดิจิตัล เขตอุตสาหกรรมสร้างมูลค่าเพิ่ม และเขตส่งเสริมการลงทุนปลอดภาษี รวมถึงให้พิจารณาข้อกฎหมายที่สนับสนุนการดำเนินโครงการ เช่น การตรา พ.ร.บ. ฉบับใหม่สำหรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ หรือการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 โดยการขยายพื้นที่โครงการ และพิจารณาข้อจำกัดและแนวทางการดำเนินการของ พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับกรณีโครงการที่มีเจ้าของโครงการหลายหน่วยงาน เป็นต้น และได้เร่งรัดให้ สนข. จัดเตรียมข้อมูลรายละเอียด เพื่อนำเสนอ Thai Landbridge Model ในเวทีการประชุมคณะทำงานด้านการขนส่งของเอเปค ครั้งที่ 52 (APEC Transportation Working Group : TPTWG 52) พร้อมเตรียม Road Show ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อดึงดูดความสนใจของนักลงทุนทั่วโลก รวมถึงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกทั้งในระดับพื้นที่โครงการ และการประชาสัมพันธ์ไปสู่นักลงทุนต่างประเทศในช่องทางต่าง ๆ
โครงการ Land Bridge เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการทำให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำอีกแห่งหนึ่งของโลก และเป็นโครงการที่มีความเป็นไปได้สูงกว่าการสร้างโครงตลองไทย
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เนื่องจากเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูง และกระทบต่อสิ่งแวดล้อมค่อนมากมาก ดังนั้นควรจะดึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วม โดยเฉพาะภาคประชาชน เพื่อช่วยกันดู ตรวจสอบให้มีผลกระทบที่น้อยที่สุด และโปร่งใสที่สุดครับ