ไปติดตามความคืบหน้าโครงการ Land Bridge ระนอง-ชุมพร กันบ้าง ล่าสุด สนข.เตรียมจัดสัมมนา เดินหน้าศึกษาโครงการ Land Bridge ระนอง -ชุมพร หวังบูรณาการ การขนส่งทุกโหมด เข้าด้วยกัน และขับเคลื่อนไทยสู่เวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ คาดว่า โครงการนี้จะเป็นทางเลือกสำคัญหากไม่มีโครงการขุดคลองไทย แนว 9A ที่จะเชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน อีกต่อไป เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
14 พ.ย.64 มีรายงานจาก สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ว่า ภายหลังจากที่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน (Business Development Model) โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (Land Bridge) นั้น
ในการศึกษาโครงการดังกล่าว มีขั้นตอนการดำเนินงาน ประกอบด้วย (1) งานคัดเลือกที่ตั้งท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่จังหวัดชุมพรและจังหวัดระนอง (2) งานศึกษาเปรียบเทียบทางเลือกโครงการในรูปแบบต่างๆ (3) งานออกแบบแนวคิด (Conceptual Design) ของโครงการ Land bridge ประกอบด้วย ท่าเรือ ทางรถไฟ และทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (4) งานศึกษาความเหมาะสมโครงการทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม (5) งานศึกษารูปแบบการดำเนินธุรกิจ (Business Model) และทางเลือกในการลงทุน PPP และ (6) การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตลอดระยะเวลาโครงการ
โครงการ Land Bridge ระนอง-ชุมพร/Cr.ภาพ สนข
ปัจจุบันโครงการอยู่ในขั้นตอนของการทบทวนและคาดการณ์ความต้องการขนส่งสินค้า ทบทวนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ แผนการพัฒนาภาคใต้ที่เกี่ยวข้อง ความเชื่อมโยงของยุทธศาสตร์/นโยบาย สำรวจพื้นที่และคัดเลือกท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง
โดยภายหลังจากนี้ โครงการได้มีการเตรียมจัดสัมมนาเพื่อเป็นการแนะนำโครงการ และนำเสนอข้อมูลขอบเขตการศึกษา ตลอดจนประโยชน์ที่จะได้รับ โดยกำหนดดำเนินการในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้
สำหรับการศึกษาเพื่อพัฒนา Land Bridge นี้ มีการรวบรวมการศึกษาส่วนหลัก ได้แก่ ทางเรือ ทั้งท่าเรือชุมพร ท่าเรือระนองในปัจจุบันและท่าเรือระนองใหม่ รวมถึงร่องน้ำระนองด้วย ทางถนน มอเตอร์เวย์ระนอง-ชุมพร ส่วนทางราง ได้แก่ ทางรถไฟสายใหม่ระนอง-ชุมพร รวมทั้งทางท่อ คือ ท่อส่งน้ำมันเชื่อมระนอง-ชุมพร โดยในส่วนของการออกแบบท่าเรือ จะเป็นในรูปแบบ Smart Port มีการควบคุมด้วยระบบออโตเมชั่น รวมถึงการพัฒนา Motorway, รถไฟทางคู่ และระบบขนส่งทางท่อที่ก่อสร้างคู่ขนานบทเส้นทางเดียวกัน เพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืนที่ดินกับภาคประชาชน
สำหรับรูปแบบการดำเนินโครงการ รัฐบาลจะลดการใช้งบประมาณและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญมาร่วมพัฒนาโครงการด้วย และจะมีการรับฟังความเห็นอย่างรอบด้านเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
และว่า โครงการ Land bridge ถือเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยขยายขีดความสามารถการพัฒนาทางเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ของประเทศ ช่วยลดเวลาและระยะทางในการขนส่ง ประหยัดต้นทุนในการขนส่ง หลีกเลี่ยงปัญหาการติดขัดของช่องแคบมะละกา สามารถเชื่อมประเทศไทย อาเซียน จีน อินเดีย
ตลอดจนเชื่อมโยงประเทศกลุ่มประเทศตะวันออกไกล เข้ากับกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสภาพยุโรปให้สะดวกยิ่งขึ้น สามารถจูงใจผู้ประกอบการขนส่งและนักลงทุนให้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้มากขึ้น เพื่อขับเคลื่อนไทยสู่เวทีการค้าโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยก่อนหน้านี้ช่วงตุลาคมที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า กระทรวงคมนาคม จะผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ในปี 2565
พร้อมระบุว่า สนข.อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในต้นปี 2565 หลังจากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกวดราคา ปี 2566-2567 ในรูปแบบเอกชนร่วมลงทุนโครงการรัฐ (พีพีพี) วงเงินลงทุน 2-3 แสนล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี และแล้วเสร็จเปิดบริการปี 2570-2572
ครับ โครงการพัฒนาเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์ เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญ ในการเชื่อมต่อโครงข่ายคมนาคมของไทย กับภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการค้า การคมนาคมขนส่ง และการเดินการท่องเที่ยว จะได้ไม่ต้องอ้อมไปใช้เส้นทางช่องแคบมะละกา และยังเป็นส่งเสริม โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี อีกด้วย
และจะเป็นตัวเลือกที่สำคัญหากตัดสินใจแน่ชัดแล้วว่า จะไม่มีการขุดคลองไทย แนว 9A ที่เชื่อมระหว่างทะเลอ่าวไทยและอันดามัน ระยะทาง 135 กิโลเมตร มูลค่า 2 ล้านล้านบาท
ซึ่งจะผ่านรอยต่อ 5 จังหวัด คือ กระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลา ครับ