มาติดตามความคืบหน้าการเชื่อมโยง จีน – ลาว – ไทย กันบ้าง ล่าสุด ผู้ว่าการรถไฟฯ และอธิบดีกรมศุลกากร ลงพื้นที่หนองคาย เตรียมพร้อมการขยายตัวการขนส่งเชื่อมต่อจาก จีน – ลาว เผย จะเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ไทย-ลาว จากหนองคาย-ท่านาแล้ง เป็นวันละ 10 ขบวนไป-กลับ เพื่อรองรับการขยายตัวการขนส่งสินค้าของทั้ง 2 ประเทศ ที่พุ่งขึ้น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
8 พ.ย.64 นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้า ข้ามสะพานมิตรภาพไทย-ลาว ถือเป็นความสำเร็จในการเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระบบรางของทั้ง 2 ประเทศเข้าด้วยกัน
ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศในการสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
ตลอดจนรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าข้ามแดนระหว่างไทย-ลาว ที่มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายหลังการเปิดให้บริการรถไฟ สปป.ลาว-จีน ช่วงเดือนธันวาคมนี้
ทั้งนี้ การรถไฟฯ ได้ประชุมและลงพื้นที่เพื่อเตรียมความพร้อมกับอธิบดีกรมศุลกากร ในการรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางเชื่อมระหว่าง จีน – ลาว ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 นี้
และได้ร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องของจังหวัดหนองคายประกอบด้วย นายด่านศุลกากรหนองคาย แขวงทางหลวงหนองคาย กองบังคับการตำรวจภูธรหนองคาย และตำรวจตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย ในการทดลองขบวนรถไฟขนส่งสินค้าความยาว 25 แคร่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งข้ามแดนทางรถไฟ ช่วงหนองคาย-ท่านาแล้ง
โดยในปี 2564-2565 มีการเพิ่มขบวนรถไฟขนส่งสินค้าจากเดิมวันละ 4 ขบวน (ไป – กลับ) เป็น 10 ขบวนไป-กลับ พ่วงขบวนละ 25 แคร่ จากนั้นในปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน (ไป – กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ และตั้งปี 2569 เป็นต้นไป จะเพิ่มขบวนรถเป็น 24 ขบวน (ไป – กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ซึ่งไม่รวมขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศ ที่เดิมปกติมีให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป – กลับ)
รถไฟไทย-ลาว ที่สถานีท่านาแล้ง สปป.ลาว /Cr.Authority of Railway Management
พร้อมย้ำว่า การเปิดให้บริการขบวนรถไฟขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างไทย – ลาว จากสถานีหนองคายถึงลานตู้สินค้า ท่านาแล้ง สปป.ลาว จะเป็นการช่วยอำนวยความสะดวกต่อการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ของทั้ง 2 ประเทศ
นายนิรุฒกล่าวเพิ่มเติมว่า การรถไฟฯ ยังมีแผนงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบูรณาการพัฒนาพื้นที่ย่านสถานีหนองคาย และพื้นที่ CY หรือศูนย์รวบรวมและเปลี่ยนถ่ายสินค้าที่สถานีรถไฟนาทา จ.หนองคาย เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางรางในพื้นที่
ให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จากท่าเรือแหลมฉบัง มายังสถานีหนองคายและต่อขยายถึงที่ลานตู้สินค้า ที่ท่านาแล้ง สปป.ลาว ได้โดยตรง เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนในอนาคต
ทั้งนี้ แผนพัฒนาย่านสถานีหนองคาย จะมีการพัฒนาพื้นที่สถานีทั้งหมด 80 ไร่ รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ระบบรางเชื่อมโยงภายในประเทศ
ซึ่งจะเป็นการช่วยเสริมศักยภาพระบบขนส่งในภูมิภาค สร้างงานสร้างอาชีพ ก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น และสนับสนุนให้ไทย เป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค
ครับ การเชื่อมโยง โดยเฉพาะโครงการรถไฟจีน – ลาว – ไทย ถือเป็นการสร้างโอกาสร่วมกันทางยุทธศาสตร์ อันจะนำไปสู่การขยายตัวด้านคมนาคมขนส่ง การท่องเที่ยว และการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้ง 3 ประเทศ
ส่วนประเทศไหนจะได้มาก ได้น้อย ก็อยู่ที่การบริหารจัดการของรัฐบาล ภาคเอกชน และการตื่นตัวของประชาชนแต่ละประเทศ ครับ