ไปที่เมียนมากันต่อ ล่าสุด รัฐบาลอองหล่ายได้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุมตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งนักข่าวสาว ในเมืองมิตจีนา รัฐคะฉิ่น ที่ถูกจับเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พร้อมกับนักข่าวอีกหลายคน หลังมิน อองหล่าย เจออาเซียนกดดันหนักไม่เชิญเข้าประชุมที่บรูไนช่วงปลายเดือนนี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
21 ตุลาคม 2564 สำนักข่าว kachinnews รายงานว่า นักข่าวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเมืองมิตจีนา เมืองหลวงของรัฐคะฉิ่น ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันพุธที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา ในการนิรโทษกรรมครั้งใหญ่ ซึ่งส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนได้รับอิสรภาพทั่วประเทศเมียนมา
โดย นักข่าวของ Myitkyina News Journal คือ อาเจ และ คริสโตเฟอร์(Christopher) ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 เมษายน และ “มาเมียว เมียต เมียต ปาน” นักข่าวหญิง ซึ่งถูกจับกุมเมื่อวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา เดินทางกลับบ้านเมื่อวันที่ 20 ต.ค.
นอกจากนี้ ยังมี จันบู ของสำนักข่าว The 74 Media และ ลา ลอ (La Raw) ของสำนักข่าว Kachinwaves ซึ่งทั้งคู่ถูกจับกุมขณะรายงานการประท้วงเมื่อวันที่ 29 มีนาคม ได้ถูกปล่อยตัว เช่นกัน
ในวันเดียวกัน ทางการยังได้ปล่อยตัวนักเคลื่อนไหว ฮเซง นู ปาน และ อู ลูม ซอง
พร้อมกันนี้ ยังปล่อยตัว มอง มโย เทะ ไนง์ ลีน จากสมาพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมิตจีนา
รวมทั้งศิลปินเผ่าลีซู คือ ยอ เต เพร และ บอก จา
การนิรโทษกรรมดังกล่าวมีขึ้นหลังจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่เชิญ พลเอกอาวุโส มิน อองหล่าย ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดประจำปี ซึ่งจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนนี้
หลังจากที่เขาล้มเหลวในการยุติความรุนแรงของระบอบการปกครองต่อประชาชน และกลุ่มที่มีสมาชิก เอเซียน จะยอมรับตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจากเมียนมาเพียงคนเดียว
ตามรายงานของสมาคมช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมือง มีผู้ถูกจับกุม 7,190 คน ตั้งแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 รัฐบาลทหาร ได้ตัดสินลงโทษประชาชน 317 คน และเสียชีวิต 1,181 คน
ครับ การปล่อยตัวผู้ที่จับกุมจากการประท้วงการรัฐประหารเมียนมา รวมทั้งสื่อมวลชน นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า การกดดันจากนานาชาติต่อรัฐบาลทหารเมียนมาร่วมส่งผลแล้ว ก็ยังสะท้อนถึงการอ่อนแอภายในรัฐบาลที่กำลังเกิดขึ้น ด้วย
แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ก็อย่าได้ไว้วางใจ เพราะว่า หากฝ่ายรัฐบาลอองหล่าย กลัยมาได้เปรียบ ก็มีโอกาสที่จะใช้ไม้แข็งกับฝ่ายต่อต้านอีก