ฉลุย!ทางรถไฟลอยฟ้ายาวสุดในไทย”ทางคู่ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ”

386

 

มาติดตามความคืบหน้า โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ กันบ้าง ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ได้ลง ตรวจความคืบหน้า ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม ที่มีโครงสร้างทางยกระดับที่ยาวที่สุดในประเทศไทย พบมีความคืบหน้าร้อยละ 61.13 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 9.71 ตามแผนจะเสร็จปี 2566

พร้อมระบุ เตรียมเปิดให้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยวสะพานรถไฟลอยน้ำโคกสลุง ลพบุรี อีกครั้ง ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

มีรายงานจาก กรมการขนส่งทางราง ว่า เมื่อวันที่ 21-22 ตุลาคม 2564 ดร.พิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางราง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ที่สำนักงานโครงการฯ โคกกระเทียม พร้อมลงพื้นที่สถานีท่าแค สถานีลพบุรี 2 และสถานีบ้านกลับ

โดยมีนายไชยา วงศ์สิทธิพรรุ่ง วิศวกรโครงการฯ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยบริษัทที่ปรึกษาควบคุมงานและบริษัทผู้รับจ้างก่อสร้างให้การต้อนรับ

สำหรับโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ แบ่งเป็น 3 สัญญา ได้แก่

สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม 29 กิโลเมตร (ทางรถไฟยกระดับ 19 กม. และระดับพื้น 10 กม.) ซึ่งถือว่าเป็นทางรถไฟยกระดับที่ยาวที่สุดในไทย มีการก่อสร้างสถานีใหม่ 1 แห่งคือสถานีลพบุรี 2 บนทางหลวงหมายเลข 366 พร้อมทั้งอยู่ระหว่างเตรียมปรับปรุงสถานีบ้านกลับ 1 สถานี มีความคืบหน้าร้อยละ 61.13 เร็วกว่าแผนงานร้อยละ 9.71

สัญญา 2 ช่วงท่าแค-ปากน้ำโพ ระยะทาง 116 กม. เป็นโครงสร้างระดับพื้นทั้งหมด โดยก่อสร้างสถานีใหม่ 4 สถานี และปรับปรุงสถานีเดิม 13สถานี รวม 17 สถานี ก่อสร้างเป็นชานชาลาสูง 1.10 เมตรทุกสถานีตามรูปแบบสัญญา และอาคารควบคุมการเดินรถ (CTC) ที่สถานีนครสวรรค์ 1 แห่ง มีความคืบหน้าร้อยละ 69.68

 

ทางรถไฟยกระดับที่ยาวที่สุดในไทย โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ สัญญาที่ 1 ช่วงบ้านกลับ-โคกกระเทียม  /Cr.กรมการขนส่งทางราง

 

สำหรับสัญญา 3 งานระบบอาณัติสัญญาณฯ มีความคืบหน้าร้อยละ 11.68

สำหรับสถานีท่าแค และสถานีบ้านกลับจะดำเนินการปรับปรุงสถานีเดิม (Renovate)ให้มีความแข็งแรง และรองรับการให้บริการมากขึ้น ส่วนสถานีลพบุรี 2 อยู่ระหว่างการก่อสร้างใหม่ ตั้งอยู่บนทางหลวงหมายเลข 366 (ถนนเลี่ยงเมืองลพบุรี) มี 4 ทาง แบ่งเป็น 3 ชั้น คือชั้นระดับดิน ชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และชั้นชานชาลา

นอกจากนี้ ได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจสถานที่ท่องเที่ยว ณ ทางรถไฟลอยน้ำโคกสลุง จังหวัดลพบุรี ในเบื้องต้นคาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจะเปิดให้บริการขบวนรถไฟท่องเที่ยวสะพานรถไฟลอยน้ำโคกสลุงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564

โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ในเส้นทางสายเหนือ ช่วงลพบุรี – ปากน้ำโพ นี้ มีระยะทาง 145 กิโลเมตร จำนวน 20 สถานี งบประมาณก่อสร้าง 21,467 ล้านบาท ตามแผนแล้วเสร็จในปี 2566

ซึ่งโครงการนี้ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบรางภายใต้แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558 – 2565 ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางและขนส่ง ช่วยเสริมสร้างโครงข่ายคมนาคมของไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง

ซึ่งจะเป็นก้าวย่างสำคัญ ในการพลิกโฉมการขนส่งทางรถไฟ ครับ