กรมรางคึกคัก! เร่งแผนเชื่อมรถไฟไทย-ลาว-จีน

486

 

มาติดตามการเตรียมความพร้อมของไทย เพื่อมรองรับการขนส่งระหว่างประเทศผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ระบุ ได้มีการเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้ เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดหนองคายและในประเทศ พร้อมเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงในระยะที่สอง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย เสร็จ ปี 2571 รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร ในช่วงขอนแก่น – หนองคาย และเตรียมการพัฒนาพื้นที่ ICD เพื่อพักสินค้า ด้วย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

18 ตุลาคม 2564 กรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคมได้เผยการเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งระหว่างประเทศผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน ซึ่งจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ธันวาคม 2564 โดยจะมีการเชื่อมต่อจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ผ่านสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เข้ามาบรรจบประเทศไทยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย

โดยเส้นทางการขนส่งดังกล่าวจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนจังหวัดหนองคาย และการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศไทย

กรมการขนส่งทางราง บอกอีกว่า การพัฒนาระบบการขนส่งทางรางเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้น ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการรองรับการเชื่อมต่อระบบทางรถไฟไทย – สปป.ลาว – จีน โดยการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ร่วมสามฝ่าย (ไทย – สปป.ลาว – จีน) ตั้งแต่ปี 2560

มีแผนการเตรียมความพร้อมรองรับการขนส่งระหว่างประเทศผ่านรถไฟไทย-ลาว-จีน นับตั้งแต่ ในปี 2562 เพื่อขับเคลื่อนพร้อมผลักดัน โครงการรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ยังเร่งรัดการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงในระยะที่สอง ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย รวมถึงโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ขนาด 1 เมตร ในช่วงขอนแก่น – หนองคาย และเตรียมการพัฒนาพื้นที่ ICD เพื่อเป็นพื้นที่พักสินค้าตรวจปล่อยของขาเข้าและบรรจุของขาออกที่จังหวัดหนองคายให้พร้อมรองรับการขนส่งสินค้าประเภทตู้คอนเทนเนอร์ผ่านระบบการขนส่งทางราง โดยมีการเตรียมความพร้อม ดังนี้

 

 

เส้นทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ 

1) การเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทาง และการขนส่งสินค้าทางรถไฟจากจีนตอนใต้ เชื่อมต่อกับ สปป.ลาว

โดยการเชื่อมต่อการเดินทางและการขนส่งสินค้าข้ามแดนผ่านทางรถไฟช่วงหนองคาย – เวียงจันทน์ แม้เส้นทางของรถไฟไทย-ลาว-จีน อยู่ระหว่างดำเนินงานเชื่อมต่อเป็นเส้นทางเดียวกันเข้ามายังประเทศไทย เพื่อแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อม และสร้างความเชื่อมั่นในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ จึงได้มีแนวทางการดำเนินงานทั้งระยะสั้น และระยะยาว เพื่อรองรับการขนส่งระหว่างประเทศทั้งสินค้าและผู้โดยสารในเส้นทางนี้

อีกทั้งได้บูรณาการกับแผนงานโครงการที่จะเกิดการบูรณาการส่งเสริมการคมนาคมขนส่งระบบโลจิสติกส์ผ่านการขนส่งทั้งทางราง ทางถนน เพื่อขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือ สร้างโอกาสและอนาคตการส่งออกของประเทศไทยต่อไป

สำหรับแนวเส้นทางโครงการรถไฟจีน – ลาว เตรียมที่จะเปิดดำเนินการในวันชาติของ สปป.ลาว มีระยะทางประมาณ 420 กิโลเมตร มีสถานีทั้งหมด 31 สถานี เริ่มต้นที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน เชื่อมต่อที่เมืองบ่อเต็น สปป. ลาว และมีปลายทางที่นครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งอยู่ใกล้กับจังหวัดหนองคาย

โดยประเทศไทยอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีระยะทาง 253 กม. กำหนดเปิดให้บริการ ปี 2569

สำหรับระยะที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย มีระยะทาง 356 กิโลเมตร ปัจจุบันได้ออกแบบรายละเอียดโดยมีกำหนดเปิดให้บริการ ปี 2571 โดยเตรียมหารือร่วมกันสามฝ่ายเพื่อเตรียมการเดินรถเชื่อมต่อไทย-ลาว-จีน ต่อไป

2) การพัฒนาระบบขนส่งทางรถไฟเชื่อมต่อ ไทย – ลาว – จีน ขณะนี้ได้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาจัดขบวนรถรองรับการเดินทางช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ และรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าทางรางที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นที่สถานีท่านาแล้งของ สปป.ลาว

นำไปสู่การเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างประเทศ จากเดิมปัจจุบัน ได้มีรถไฟของ รฟท. ผ่านสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 1 ขาไป 2 ขบวนและขากลับ 2 ขบวนนั้น รฟท. ได้เพิ่มเติมตารางเวลาการเดินรถ เมื่อมีการเชื่อมต่อในเส้นทางดังกล่าวแล้วจะเพิ่มขบวนรถขาไป 7 ขบวนและขากลับ 7 ขบวน รวมมีการเพิ่มจำนวนขบวนรถเป็น 14 ขบวน

อีกทั้งได้มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรางของประเทศไทย ซึ่งการเตรียมความพร้อมของฝ่ายไทยในการเชื่อมโยงทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ประเทศไทยได้มีการเตรียมความพร้อมในการเปิดเส้นทางรถไฟจีน – ลาว ไว้ โดยมีการพัฒนาสถานีหนองคายให้รองรับการขนส่งผ่านสะพานเดิม

โดยพัฒนาบริเวณสถานีที่มีพื้นที่ประมาณ 80 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ตรวจปล่อยสินค้าระหว่างประเทศ และการเปลี่ยนถ่ายจากถนนสู่ราง โดยให้เอกชนเช่าบริหารจัดการพื้นที่ 4 แปลง อีก 1 แปลงเป็นพื้นที่ส่วนกลาง

การจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับศูนย์ย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) สามารถรองรับการแลกเปลี่ยนสินค้าจากรถไฟที่เข้ามาจากจีนและลาว และส่งออกไปยังลาวและจีน โดยตั้งอยู่ในพื้นที่ด้านหลังของลานขนถ่ายสินค้า สำหรับกองเก็บตู้สินค้าประเภทต่างๆ รวมถึงอาคารสำนักงาน, คลังสินค้า และอาคารประกอบอื่นๆ ของหน่วยงานที่เกี่ยวกับการนำเข้า-ส่งออก รวมถึงศูนย์การเอ็กซเรย์ (X-ray) ตู้สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการแบบ One-Stop Service

3) การสร้างสะพานมิตรภาพรองรับการขนส่งทางรถไฟโดยเฉพาะ พิจารณาการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ใกล้กับสะพานเดิมที่มีอยู่แล้ว โดยอาจจะแยกเป็นสะพานเฉพาะสำหรับการเดินรถไฟเท่านั้น รวมทั้งการจัดเตรียมพื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับปริมาณ การขนส่งที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่ ซึ่งอยู่ห่างจากสะพานเดิมประมาณ 30 เมตร โดยเป็นสะพานรถไฟที่มีทั้งทางขนาด 1 เมตร และ 1.435 เมตร โครงสร้างสะพานจะเป็นรูปแบบสะพานคานคอนกรีตอัดแรงรูปกล่องก่อสร้างโดยวิธีคานยื่นสมดุล

ครับ การเชื่อมโยงทางรถไฟไทย-ลาว-จีน ถือเป็นโอกาสสำคัญของทั้ง 3 ชาติ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของกันและกัน และหากมีการเชื่อมโครงข่ายการอย่างสมบูรณ์แล้ว จะทำให้การค้าขายของพื้นที่บริเวณนี้ จะกลายเป็นศูนย์การคมนาคมและการค้า มีความคึกอีกแห่งหนึ่งของโลก เผลอๆ อาจจะใหญ่ที่สุดในโลกก็เป็นได้

เพราะว่า เมื่อพิจารณาจากที่ประเทศไทยมีประชากร 69,950,850 คน สปป.ลาว 7,123,205 คน และ จีน 1,411,778,724 คน รวม 1,488,852,779 คน

เมื่อเทียบกับกับทวีปยุโรป พ.ศ. 2560 มีประชากร 741,447,158 คน และสหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ.2561 มีประชากร ประมาณ 328,173,000 คน 2 ทวีปรวมกัน 1,069,620,158 คน ซึ่งประชากรน้อยกว่า ไทย ลาว จีน รวมกันเสียอีก นี่ยังไม่นับรวมกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนอีก

และหากไทย ใช้ประโยชน์จากกลุ่ม BIMSTEC ที่มีสมาชิกรวม 7 ประเทศ คือ บังกลาเทศ ศรีลังกา อินเดีย ไทย พม่า เนปาล และภูฏาน ซึ่งมีประชากรรวมกัน 1,660,104,888 คน โดยใช้ท่าเรือระนอง เชื่อมโยงขนส่งสินค้า ก็จะเข้าถึงตลาด ที่มีขนาดมหึมามาก

ดังนั้น นี่คือโอกาส แต่แน่นอนละครับว่า ทุกอย่างไม่มีอะไรดีไปซะหมด มี 2 ด้านเสมอ จึงอยู่ที่ว่า เราจะหาประโยชน์อย่างไร และทำอย่างไรให้เราเสียเปรียบน้อยที่สุด แต่หากไม่กล้าทำอะไรเลย โอกาสที่รอตรงหน้าก็ไร้ความหมาย การพัฒนาประเทศชาติ ก็ไม่สามารถเกิดขึ้น ครับ