มาติดตามความคืบหน้าโครการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ล่าสุด มีรายงานจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ว่า การส่งมอบพื้นที่ให้กับซีพี เอกชนคู่สัญญามีความคืบหน้า 86% แล้ว และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 ส่วนการแก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้โครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน นั้น ได้เตรียมเร่งรัด ซีพี ให้ดำเนินการแล้วเสร็จและเปิดใช้งานได้ภายในเดือน ก.ค. 2569 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
มีรายงานข่าวว่า 4 สิงหาคม 2564 ได้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรืออีอีซี ครั้งที่ 2/2564 โดยที่ประชุมได้มีการหารือหลายประเด็น โดยเฉพาะความคืบหน้า รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่การส่งมอบพื้นที่ให้กับเอกชนคู่สัญญามีความคืบหน้า 86% แล้ว และพร้อมส่งมอบทั้งหมดภายในเดือนกันยายน 2564 คู่ขนานไปกับการยกระดับแอร์พอร์ต เรลลิงก์ โฉมใหม่ ที่ผู้โดยสารจะได้รับบริการ ที่สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ได้พิจารณา แก้ปัญหาซ้อนทับ โครงการรถไฟความเร็วเชื่อมสามสนามบิน และโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน ในช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง ซึ่งเป็นช่วงที่ต้องใช้แนวเส้นทาง และจำเป็นต้องมีโครงสร้างโยธาเสาและฐานรากร่วมกัน (โครงสร้างโยธาร่วม) แต่ระยะเวลาการก่อสร้าง และมาตรฐานเทคนิคทั้งสองโครงการไม่สอดคล้องกัน
ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาการซ้อนทับทั้งสองโครงการ ฯ ดังกล่าว สกพอ. ก.คมนาคม และ รฟท. จะเจรจากับ ซีพี เอกชนคู่สัญญา จัดทำข้อเสนอการแก้ไขสัญญาร่วมทุน เพื่อให้เอกชนเร่งรัดดำเนินการก่อสร้างช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยจะเจรจาให้เอกชนรับพื้นที่และเริ่มงานก่อสร้างโยธาให้ได้มาตรฐานเร็วกว่ากำหนด เพื่อให้โครงการรถไฟฯ ไทย-จีน สามารถใช้เส้นทางดอนเมืองบางซื่อได้ภายในเดือน ก.ค. 2569 รวมทั้งเอกชนคู่สัญญา จะรับผิดชอบออกแบบและก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด รวมงานทางวิ่งของโครงการรถไฟฯ ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ ถึง ดอนเมือง โดยยึดข้อตกลงทั้งมาตรฐานและระยะเวลาของ รถไฟไทย-จีนเป็นหลัก เพื่อแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระยะเวลา และด้านเทคนิคให้สามารถรองรับทั้งสองโครงการได้
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เมื่อ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา เวบไซต์เมเนเจอร์ออนไลน์ รายงานว่า ได้มีการเตรียมการก่อสร้างโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงในเขตพื้นที่ของเมืองพัทยา จ.ชลบุรี ตั้งแต่บริเวณแยกกะทิงรายจนถึงถนนเลียบทางรถไฟ และถนนห้วยใหญ่ ซึ่งมีขนาดความกว้างประมาณ 5 เมตร ยาวกว่า 30 กิโลเมตร โดยพบว่าเจ้าหน้าที่ได้นำรถแบ็กโฮเข้าทำการปรับและเกลี่ยหน้าดินเพื่อปรับพื้นที่ก่อนเริ่มดำเนินการก่อสร้าง โดยใช้พื้นที่ริมทางรถไฟเดิมเพื่อรอฟังคำสั่งให้มีการเริ่มลงมืออย่างเป็นรูปธรรมในเดือน ต.ค.64
และก่อนหน้านี้ บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ยืนยันว่า ความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ที่จะเปิดดำเนินการในปี 2569
ครับ ทั้งโครงการ รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย- จีน จะเป็นก้าวย่างสำคัญที่จะทำให้ระบบรางของไทย มีความสมบูรณ์ขึ้น และไปยืนอยู่ในระดับต้นๆ ของโลก
แต่มีผลพลอยได้ที่ยิ่งใหญ่กว่า คือ การลากจูง โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เพื่อยกระดับอุตสาหกรรม และนวตกรรม ให้หนีจากคู่แข่งในภูมิภาคนี้
อีกทั้งจะเป็นการหนีกับดักรายได้ระดับกลาง อันจะนำไปสู่ประเทศไทยโฉมใหม่ ครับ