มาติดตามผลการหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ของพม่าในกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมากันต่อ โดยผู้นำอาเซียนได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการ แต่แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนไม่ได้ บี้ให้ผู้นำรัฐประหารของพม่าให้รับปากจะยุติความรุนแรงในประเทศ หรือปล่อยตัวนักโทษการเมือง ด้านสื่อชี้ดูเหมือนจะล้มเหลวในการเรียกร้องสัญญาที่มั่นคงจากมินอองหล่าย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
24 เมษายน 2564 สำนักข่าวอิระวดี รายงานว่า ผู้นำอาเซียนเรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารของพม่า ลดความรุนแรงในประเทศของตน และหาข้อยุติทางการเมืองต่อวิกฤตดังกล่าว ผ่านการหารือในการประชุมสุดยอดอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันเสาร์ 24 เมษายน ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนจะล้มเหลวในการเรียกร้องสัญญาที่มั่นคงจากนายพลอาวุโสมินอองหล่าย
โดยผู้นำอาเซียนที่รวมตัวกันกดดันผู้นำรัฐประหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลอาวุโสมินอองหล่าย ให้ยุติความรุนแรง โดยกองกำลังความมั่นคงของเขา ซึ่งมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 745 ราย ในระหว่างการปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้านระบอบการปกครองอย่างสันติ และเรียกร้องให้ ปล่อยตัวนักโทษการเมืองรวมถึงนางอองซานซูจี ผู้นำพลเรือน ซึ่งรัฐบาลทหารพม่า ได้ควบคุมตัวบุคคลเกือบ 3,400 คนนับตั้งแต่รัฐประหาร 1 ก. พ.
ผู้นำรัฐประหารและผู้บัญชาการทหารสูงสุด นายพลอาวุโส มินอองหล่าย
ในระหว่างการประชุมผู้นำได้บรรลุฉันทามติ 5 ประการเพื่อเรียกร้องให้พม่ายอมรับการแต่งตั้งทูตพิเศษเพื่อมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายและให้การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมจากอาเซียน ซึ่งเลขาธิการอาเซียนจะประสานงานร่วมกัน กับศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Center)
นายโจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย กล่าวว่า สถานการณ์ในพม่า เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้และจะต้องไม่ดำเนินต่อไป พร้อมกล่าวเสริมว่า ต้องยุติความรุนแรง และประชาธิปไตย เสถียรภาพ และสันติภาพ ในพม่า ได้รับการฟื้นฟู
ด้านนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย นายมูห์ยิดดิน ยัสซิน (Muhyiddin Yassin) เรียกร้องให้ผู้นำรัฐประหารปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวทั้งหมดโดยทันทีและไม่มีเงื่อนไข โดยบอกว่า เราตระหนักดีว่าความสำเร็จของความพยายามของอาเซียนต่อพม่านั้น ขึ้นอยู่กับความเต็มใจของชาวพม่าที่จะร่วมมือ
ในขณะที่นายลีเซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ กล่าวกับสื่อ หลังการประชุม ว่า ผู้นำรัฐบาลพม่าเขาไม่ได้ต่อต้านอาเซียนที่มีบทบาทที่สร้างสรรค์ หรือการเยือนของคณะผู้แทนอาเซียน หรือความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และพวกเขาจะก้าวไปข้างหน้าและมีส่วนร่วมกับอาเซียนในทางสร้างสรรค์
การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ของพม่าในกรุงจาการ์ตาประเทศอินโดนีเซียของผู้นำอาเซียน
รายงานข่าวบอกด้วยว่า แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนไม่ได้ระบุว่าผู้นำรัฐประหารของพม่า ทำสัญญาเฉพาะเจาะจงว่าจะยุติความรุนแรงในประเทศของเขาหรือปล่อยตัวนักโทษการเมือง
ด้านสื่อ Khit Thit Media ของพม่า รายงานว่า สำหรับ 5 ประเด็นของของฉันทามติ เกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่า ผู้นำอาเซียน มีการเห็นพ้องต้องกันดังนี้
ประการแรกจะต้องยุติความรุนแรงในพม่าโดยทันที และทุกฝ่ายจะต้องใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างเต็มที่
ประการที่สองการเจรจาที่สร้างสรรค์ระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเริ่มต้นเพื่อหาทางออกอย่างสันติเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน
ประการที่สามทูตพิเศษของประธานอาเซียนจะอำนวยความสะดวกในการไกล่เกลี่ยของกระบวนการเจรจาโดยความช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน
ประการที่สี่อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (AHA Center)
และประการที่ห้า ทูตและคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางเยือนพม่า เพื่อพบปะกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
5 ประเด็นของของฉันทามติเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าของผู้นำอาเซียน
ดูเหมือนว่า วงถกอาเซียนจะไม่ได้ชี้ไปที่ต้นต่อของการยุติปัญหา คือ ผู้นำทหารของพม่า ให้รับปากที่จะยุติปัญหานั่นคือ การใช้ความรุนแรงต่อผุ้ชุมนุมประท้วง ดังนั้นจึงยังไม่เห็นว่าในระยะอันใกล้ปัญหาความวุ่นวายในพม่าจะจบลงได้ ดังนั้นการประชุมครั้งนี้ จึงแค่ทำให้ นายพลอาวุโสมินอองหล่าย ดูดีขึ้นเท่านั้น
อุปมาเหมือน เท้าบวมเพราะหนามตำ หากไม่บ่งหนามออก แล้วเท้าจะหายบวม หรือบรรเทาลงได้อย่างไร