พม่า ขยับใกล้”หายนะซีเรีย” ความขัดแย้งพัฒนาเต็มรูปแบบ

752

 

มาติดตามสถานการณ์ในพม่ากันต่อ ล่าสุด ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมาเตือน สถานการณ์ในพม่าว่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบ อาจเป็นหายนะเหมือนสงครามกลางเมืองซีเรีย พร้อมระบุการปราบปรามประชาชนอย่างโหดร้ายและต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบางส่วนจับอาวุธ และขยายตัวอย่างรวดเร็ว วอนประเทศที่มีอิทธิพล ต้องร่วมใช้แรงกดดันร่วมกันต่อกองทัพพม่าอย่างเร่งด่วน พร้อม ระบุ ประเทศเพื่อนบ้านงดส่งกลับผู้คนที่หลบหนีจากพม่า เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

 

เมื่อ 13 เมษายน 2564 มิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet )ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ออกมาเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ดำเนินมาตรการโดยทันที เด็ดขาด และมีผลกระทบเพื่อผลักดันให้ผู้นำทางทหารของพม่า ยุติการปราบปรามและเข่นฆ่าประชาชน

มิเชล บาเชเล็ต กล่าวอีกว่า เราได้เห็นอีกครั้งในช่วงสุดสัปดาห์ของการนองเลือดในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งรวมถึงรายงานการสังหารหมู่อย่างน้อย 82 คนในพะโค ระหว่างวันศุกร์ถึงวันเสาร์ ดูเหมือนว่ากองทัพมีเจตนาที่จะเน้นโยบายการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่าอย่างไร้ความปรานี โดยใช้อาวุธในระดับทหาร และไม่เลือกปฏิบัติ

ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังระบุว่า นี้่เป็นสิ่งสะท้อนอย่างชัดเจนกับสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรีย ในปี 2554 ที่นี่เช่นกัน เราเห็นการประท้วงอย่างสันติถูกใช้กำลังที่ไม่จำเป็นและไม่สมส่วนอย่างชัดเจน การที่รัฐปราบปรามประชาชนของรัฐอย่างโหดร้ายและต่อเนื่อง ทำให้ประชาชนบางส่วนจับอาวุธ และขยายตัวอย่างรวดเร็ว

มิเชล บาเชเลต์ (Michelle Bachelet )ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ/Cr.th.wikipedia.org

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วประเทศของซีเรียในตอนนั้น ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เตือนในปี 2554 ว่าความล้มเหลวของประชาคมระหว่างประเทศในการตอบโต้ด้วยการแก้ไขร่วมกันอาจเป็นหายนะสำหรับซีเรีย และในช่วงสิบปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าน่ากลัวเพียงใด ผลที่ตามมาเกิดขึ้นกับพลเรือนหลายล้านคน

โดย บาเชเล็ต ย้ำว่า “ฉันกลัวว่าสถานการณ์ในพม่ากำลังมุ่งหน้าไปสู่ความขัดแย้งอย่างเต็มรูปแบบ” ประเทศต่างๆ ต้องไม่ทำผิดพลาดร้ายแรงอย่างเดิม ๆ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในซีเรีย และที่อื่น ๆ”

ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รายงานที่น่าเชื่อถือระบุว่ากองกำลัง Tatmadaw เปิดฉากยิงด้วยระเบิดที่ขับเคลื่อนด้วยจรวด ระเบิดกระจาย และยิงปืนครก ในเขตพะโคทางตอนใต้ของประเทศ ยังมีรายงานว่า กองกำลังรักษาความปลอดภัย ไม่ให้เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ รวมทั้งเรียกเก็บเงิน “ค่าปรับ” แก่ญาติเป็นจำนวนเงินประมาณ 90 เหรียญสหรัฐ หรือ ประมาณ 2,800 บาท จากการเรียกร้องศพของผู้เสียชีวิต ปัจจุบันบางคนหันไปใช้อาวุธชั่วคราว หรืออาวุธดั้งเดิมในการป้องกันตัว

การปะทะกันระหว่างกลุ่มทหารและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ยังทวีความรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ในรัฐคะฉิ่น รัฐฉาน และรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งกองทัพใช้การโจมตีทางอากาศสังหารและเครื่อนย้ายถิ่นพลเรือน

การชุมนุมประท้วงในพม่า/Cr.ภาพ myanmar-now

ขณะที่การจับกุมยังคงดำเนินต่อไป โดยมีผู้ถูกควบคุมตัวอย่างน้อย 3,080 คน ในปัจจุบันมีรายงานว่ามีผู้ถูกตัดสินประหารชีวิต 23 คนจากการพิจารณาคดีลับซึ่งรวมถึงผู้ประท้วง 4 คนและอีก 19 คนที่ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดทางการเมืองและทางอาญา

ข้าหลวงใหญ่เรียกร้องให้ทหารพม่าและประเทศใกล้เคียง อำนวยความสะดวกด้านมนุษยธรรม พร้อมเรียกร้องให้ประเทศใกล้เคียงให้ความคุ้มครองชั่วคราวแก่ประชาชนที่หลบหนีความรุนแรง และงดส่งกลับผู้คนที่หลบหนีจากพม่าในขณะนี้ตามหลักการไม่ส่งกลับ
บาเชเล็ต กล่าวด้วยว่า ถ้อยแถลงในการประณาม และมาตรการคว่ำบาตรแบบเฉพาะเจาะจงไม่เพียงพอ ประเทศที่มีอิทธิพลจำเป็นต้องใช้แรงกดดันร่วมกัน ต่อกองทัพพม่าอย่างเร่งด่วน เพื่อยุติการกระทำ การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง และอาชญากรรมที่อาจเกิดขึ้นต่อมนุษยชาติ

ครับนั่นก็เป็นทางทีล่าสุดของ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่ออกมาเตือนแนวโน้มของสถานการณ์ในพม่า ที่อาจลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมืองแบบซีเรีย และเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันยุติปัญหา

ประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด  ของซีเรีย/Cr.Image source www.pbs.org

 

สำหรับสงครามกลางเมืองซีเรีย นั้นเกิดขึ้นปี 2554 เกิดจากการประท้วงทั่วประเทศต่อรัฐบาลประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด เนื่องจาก การทุจริต และการขาดเสรีภาพทางการเมือง การเรียกร้องการปฏิรูปประชาธิปไตย และการปล่อยตัวนักโทษการเมือง ซึ่งการชุมนุมได้รับอิทธิพลมาจาก “อาหรับสปริง” ที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านหลายชาติในขณะนั้น

แต่รัฐบาลประธานาธิบดีบัชชาร อัลอะซัด กลับใช้กองกำลังความมั่นคงเปิดฉากยิงใส่ผู้ประท้วง ทำให้การประท้วงลุกลาม เป็นการเรียกร้องให้ล้มรัฐบาลอะซัดแทน จากนั้นเกิดการประท้วงในหลายเมืองส่งผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตราว 1,000 ราย และทำให้ชาวบางส่วนซีเรียหันมาจับอาวุธสู้ และมีทหารแปรพักตร์จำนวนมากหันมาคุ้มครองผู้ประท้วง

ซึ่งเหตุการณ์นี้ คล้ายกับเมื่อ 11 เมษายน ที่ชาวทามู ในเขตสกาย ของพม่า ด้านติดกับอินเดีย ได้ออกมาชุมนุมแล้วถูกทำร้าย กองกำลังติดอาวุธขององค์การแห่งชาติ Kuki (Kuki National Organization :KNO) ได้ออกมาช่วยคุ้มครองประชาชน และโยนระเบิดใส่รถทหารพม่า ทำให้เสียชีวิตถึง 18 นาย

กลับมาที่เรื่องซีเรีย ต่อมาเหตุการณ์รุนแรงขึ้น จึงได้มีการตั้งทหารอาสาสมัครฝ่ายค้านติดอาวุธทั่วประเทศซีเรีย และการตั้งกองทัพซีเรียเสรี (FSA) โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัด บัชชาร อัลอะซัดและรัฐบาลออกจากอำนาจ

สงครามกลางเมืองซีเรีย/Cr.Image source www.pbs.org

จุดที่เป็นการเติมเชื้อไฟสงครามกลางเมืองให้ลุกโชน คือ การแทรกแซงของต่างชาติ ระหว่างฝ่ายที่หนุนรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด คือ รัสเซีย อิหร่าน และตุรกี กับอีกฝ่ายที่ต่อต้านรัฐบาลบัชชาร อัลอะซัด ได้รับการสนับสนุน โดย สหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส ซาอุดิอาระเบีย อิสราเอล และชาติอาหรับในอ่าวเปอร์เซียหลายชาติ ทำให้เพิ่มระดับความขัดแย้งดังกล่าวเป็นสงครามกลางเมืองเต็มรูป

ต่อมาสหประชาชาติ ได้เข้าเป็นตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เนื่องจากประธานาธิบดีอัลอะซัด ปฏิเสธที่จะเจรจากับกลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน ที่ยืนยันว่าเขาต้องลาออกจากตำแหน่ง ก่อนจะมีการตกลงใดๆ

และนับถึงตอนนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ยังไม่ใครบอกได้ว่า สงครามจะจบลงเมื่อไร

แต่ผลของสงคราม จากเวบไซต BBC ระบุว่า นอกจากจะมีผู้เสียชีวิตหลายแสนรายแล้ว สงครามนี้ยังทำให้คนปกติกลายเป็นผู้พิการถาวรอีก 1.5 ล้านคน รวมถึง 86,000 คนที่สูญเสียอวัยวะ มีชาวซีเรียอย่างน้อย 6.2 ล้านคน ต้องพลัดถิ่นฐานภายในประเทศ ส่วนอีก 5.7 ล้านคนต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง เลบานอน, จอร์แดน และตุรกี ซึ่งรับผู้ลี้ภัยจากซีเรีย 93% ของทั้งหมด ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการรับมือกับการลี้ภัยครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์

บทเรียนจากซีเรีย นี้ เป็นตัวอย่างที่ดี สำหรับหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะพม่าในตอนนี้ หากทุกคนเอาอำนาจของตนเองเป็นที่ตั้ง แทนการนึกถึงส่วนรวม สุดท้ายประเทศชาติโดยสวนรวม จะเกิดความเสียหาย

และยิ่งปล่อยให้บรรดาประเทศมหาอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยวด้วย หายนะแบบซีเรีย ก็ยอมหลีกเลี่ยงไม่พ้น