เปิดแผน”กลุ่มซูจี”ผนึกกลุ่มชาติพันธุ์ ตั้งกองทัพลุยทหารพม่า

703

 

มาติดตามสถานการณ์ในพม่ากันต่อ ล่าสุดมีประเด็นข่าวเรื่องการตั้งกองทัพสหพันธรัฐ ของกลุ่มคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ของปีกนางอองซานซูจี กับกองกำลังของกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อโค่นล้มกองทัพพม่า ภายใต้ การนำของนายพลมิน อ่อง หล่าย โดยเรื่องนี้มีความเป็นได้สูง เพราะ ทางโฆษก CRPH ได้ออกมายืนยันผ่านการให้สัมภาษณ์ผ่านสำนักข่าวอิระวดี ในขณะที่ 10 กองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในปีกของเจ้ายอดศึก ได้ออกมารับลูกพร้อมร่วมมือกับกลุ่ม CRPH เช่นเดียวกัน ฉะนั้นต่อจากนี้สถานการณ์ในพม่า จึงน่าจับอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมาฟังคำวิเคราะห์กันว่า พม่าจะเกิดสงครามกลางเมืองหรือไม่ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

5 เมษายน 2564 นาย U Yee Mon โฆษกคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH ตัวแทนของสมาชิกที่มาจากการเลือกตั้งของสมัชชาแห่งสหภาพ ที่นำโดยพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ที่ได้รับการเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2020 ได้ให้สัมภาษณ์กับ ผ่านสำนักข่าวอิระวดี เกี่ยวกับโอกาสในการเป็นสหพันธรัฐในเมียนมาร์ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ สภาที่ปรึกษาเอกภาพแห่งชาติ กองทัพสหพันธรัฐ และความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามกลางเมือง โดยประเด็นที่น่าสนใจคือ เรื่องการจัดตั้งกองทัพสหพันธรัฐ

โดยบางช่วงบางตอนของการสัมภาณ์มีรายละเอียดดังนี้

ต่อข้อซักถามของผู้สื่อที่ว่า คนหนุ่มสาวสนใจแนวคิดเรื่องกองทัพสหพันธรัฐเป็นพิเศษ คุณช่วยอธิบายได้ไหมว่า CRPH กำลังเตรียมการสำหรับสิ่งนี้อย่างไร

นาย U Yee Mon โฆษกคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH บอกว่า ในขณะที่เราจะจัดตั้งสหภาพสหพันธรัฐประชาธิปไตย เราจำเป็นต้องมีกองทัพที่จะปกป้องสหภาพและระบบนั้น กองทัพสหภาพสหพันธรัฐ ต้องเป็นกองทัพมืออาชีพเป็นอันดับแรก และไม่ใช่กองทัพที่ใช้ความรุนแรงต่อพลเรือน ประการที่สองต้องอยู่ภายใต้การจัดการของรัฐบาลพลเรือน ประการที่สามต้องประกอบด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

พร้อมระบุว่า กองทัพปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของสภาทหารและห่างไกลจากการปกป้องประชาชนมัน กลายเป็นกองทัพผู้ก่อการร้ายที่สังหารประชาชนอย่างไร้ความปราณี และยังมีลักษณะที่จะรักษาอำนาจเหนือการเมืองด้วยการใช้กำลัง ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้รัฐบาลที่ชอบด้วยกฎหมายจะต้องดำเนินการปฏิรูปภาคความมั่นคง เราต้องเตรียมฝึกและจัดระเบียบอย่างเป็นระบบสำหรับสิ่งนี้

นาย U Yee Mon โฆษกคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH/Cr.ภาพ irrawaddy.com

 

 

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า สามารถอธิบายได้หรือไม่ว่า กลุ่มชาติพันธุ์และผู้นำกลุ่มใดมีส่วนร่วมในการร่างกฎบัตรประชาธิปไตยแห่งสหพันธ์ โฆษก CRPH บอกว่า กฎบัตรเป็นข้อตกลงร่วมกัน แต่เนื่องจากข้อจำกัดของแต่ละกลุ่มในสถานการณ์ปัจจุบันเราตกลงว่า CRPH ควรรับผิดชอบในประเด็นออกกฎบัตรนี้

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แม้ว่ากฎบัตรประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐโดยทั่วไปจะระบุถึงสิทธิของรัฐชาติพันธุ์ แต่ก็ไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนถึงอาณาเขตของกลุ่มชาติพันธุ์ คุณช่วยอธิบายหน่อย?

โฆษก CRPH บอกว่า จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อออกแบบรัฐธรรมนูญแห่งสหพันธรัฐประชาธิปไตยตามแผนงานที่ระบุไว้ในกฎบัตร โครงสร้างของหน่วยงานสหพันธรัฐ จะได้รับการออกแบบพร้อมกับรัฐธรรมนูญ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า บางคนรู้สึกไม่พอใจกับ CRPH โดยกล่าวว่ากลุ่มไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการออกแถลงการณ์ CRPH ได้ทำอะไรและมีการปรับปรุงอะไรบ้าง โฆษก CRPH บอกว่า เราเข้าใจว่ามีหงุดหงิดบ้าง CRPH รับผิดชอบต่ออนาคตของประเทศ กำลังดำเนินการแก้ไขวิกฤตทางการเมืองที่เกิดขึ้นมากว่า 70 ปีพร้อมกับต่อสู้กับเผด็จการทหาร

พร้อมบุว่า การพูดคุยเรื่องสหพันธรัฐไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เราต้องใช้เวลาเพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาด ต่อเมื่อเราสามารถสร้างความเป็นปึกแผ่นของชาติ เราจะสามารถชนะการต่อสู้ครั้งนี้ หากเราชนะการต่อสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องยุติธรรมที่จะบอกว่าประเทศจะกลายเป็นประชาธิปไตยแบบสหพันธรัฐ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อเสนอแนะว่า สงครามกลางเมืองอาจปะทุขึ้นเมื่อความต้านทานของประชาชนต่อเผด็จการทหารถึงจุดสูงสุด คุณคิดว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่? CRPH จะให้การสนับสนุนอะไรหากเกิดขึ้น?

โฆษก CRPH ตอบว่า ประชาชน รวมถึงกลุ่ม Gen-Z มุ่งมั่นที่จะกำจัดชนชั้นนำทางทหารที่รังแกและเอาเปรียบประเทศเป็นเวลาหลายปี การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิของพม่าจะใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ แต่จะมีสงครามกลางเมืองหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับทหาร

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประชาชนทั่วประเทศต่อต้านการรัฐประหารของกองทัพในรูปแบบต่างๆ ยอดผู้เสียชีวิตเกือบ 600 คนจะต้องต้านทานต่อไปอีกนานแค่ไหน?

โฆษก CRPH เรารู้สึกเจ็บปวดมากพอ ๆ กับผู้คนที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวให้กับรัฐบาลทหาร สิ่งที่ฉันสามารถบอกได้ตอนนี้คือเรากำลังหาวิธีที่จะจบเกมนี้ในเวลาอันสั้น

ผู้สื่อข่าวซักต่อว่า กลุ่มชาติพันธุ์กังวลว่านางอองซาน ซูจี และผู้นำพรรค NLD จะไม่รักษาข้อตกลง ในปัจจุบัน หากพวกเขาได้รับการปล่อยตัว CRPH จะว่าอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้?

โฆษก CRPH ก็บอกว่า นางอองซาน ซูจี เป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ดึงดูดมาก เราเชื่อว่าเธอจะยอมรับว่าแนวทางแก้ไข (เพื่อแก้วิกฤต) สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับเวลาและสถานการณ์

ประเด็นการยุติปัญหาในพม่า โดยเฉพาะการใช้วิธีการ จัดตั้งกองทัพสหภาพสหพันธรัฐ เป็นเรื่องที่น่าจับมอง เพราะเป็นวิธีการสำคัญ ที่จะใช้ต่อรองกับทหารพม่า ภายใต้ นายพลมิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการกองทัพเมียนมา ที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์อยู่ในมือมากมาย

ซึ่งคณะทำงานกระบวนการสันติภาพ (PPST) ที่นำโดย พลเอกยอดศึก หรือ เจ้ายอดศึก ผู้นำสภากอบกู้รัฐฉาน และมีแกนนำกลุ่มชาติพันธุ์อีก 9 กลุ่ม ซึ่งเป็นกองกำลังชาติพันธุ์ ที่ได้ลงนามในสัญญาหยุดยิงทั่วประเทศ(NCA) กับรัฐบาลพม่าไปแล้ว และได้แสดงความสนใจต่อคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ หรือ CRPH

โดยเมื่อ 4 เมษายน 2564 ได้การประชุมทีมขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพ PPST ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ คือ ระบบการประชุมออนไลน์ ของ แกนนำกลุ่มชาติพันธุ์ทั้ง 10 กลุ่ม

หลังจากหารืออย่างละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน ได้แถลงจุดยืนร่วมกันดังต่อไปนี้

1) เรียกร้องให้สภาทหารหยุดการละเมิดขนานใหญ่ เช่น การยิง และการสังหารพลเรือนที่ปราศจากอาวุธทันที 2) เรียกร้องให้ปล่อยตัวทุกคนที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเงื่อนไขและทันที 3) เราจะยังคงให้การสนับสนุนต่อการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ รวมถึงการการเคลื่อนไหวอารยะขัดขืนของภาคประชาชน 4) เรายินดีต้อนรับการยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2551 หรือ 2008 ที่ประกาศโดยคณะกรรมการที่เป็นตัวแทนของ CRPH และ 5) ยินดีกับการประกาศกฎบัตรประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ โดย CRPH ในฐานะพยายามสร้างสหภาพประชาธิปไตยแห่งสหพันธรัฐ

 

 

จากจุดยืนทั้งของกลุ่มนี้ การร่วมมือกันในรูปของกองทัพสหพันธรัฐจึงเป็นไปได้สูง

แต่ประเด็นที่ต้องคิดต่อคือ หาก ทั้ง 2 กลุ่มนี้ สามารถโค่นล้ม คณะรัฐประหารของพม่า ลงได้ แล้วจะมีหลักประกันอะไรว่า ความหวังของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะไม่ ฝันค้างแบบที่เจอจาก สนธิสัญญาปางโหลงหรือความตกลงเวียงปางหลวง ปี 2490 ซึ่งเป็นความตกลงระหว่างพม่า ไทใหญ่ ชิน และคะฉิ่น ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการประชุมปางหลวงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อจัดตั้งสหภาพพม่าภายหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ และความตกลงนี้ไม่บรรลุผลเพราะพม่าไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง

ซึ่งตอนนั้นตัวตั้งตัวตี สนธิสัญญาปางโหลงหรือ ก็คือ นายพลอองซาน บิดาของนางอองซานซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ซึ่งมีอิทธิพลเหนือ CRPH ที่กำลังเป็นเป็นตัวตั้งตัวตีในขณะนี้