มาติดตาม สถานการณ์ในพม่ากันบ้าง ล่าสุด คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน ประกาศแจ้งเตือนฉุกเฉิน ว่า ผู้พลัดถิ่นในประเทศ 6,000 คนทางตอนใต้ของรัฐฉาน พรมแดนไทย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองทัพพม่า ภายหลังกองทัพพม่าประกาศเริ่มโจมตีบริเวณพรมแดนไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน /กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน พร้อมระบุ พวกเขาหวาดกลัวมาก จากข่าวการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง
วันที่ 2 เมษายน 2564 คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (Shan State Refugee Committee) (พรมแดนไทย) ได้ประกาศแจ้งเตือนฉุกเฉิน มีรายละเอียดว่า ผู้พลัดถิ่นในประเทศ 6,000 คนทางตอนใต้ของรัฐฉาน พรมแดนไทย เสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกองทัพพม่าเป็นอย่างมาก
พร้อมระบุว่า คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) Shan State Refugee Committee (Thai Border) กังวลอย่างยิ่งกับความปลอดภัยของผู้พลัดถิ่นในประเทศเกือบ 6,000 คนทางใต้ของรัฐฉานบริเวณพรมแดนประเทศไทย ที่หนีภัยจากประหัตประหารจากกองทัพพม่ามาเกือบ 20 ปี ภายหลังกองทัพพม่าประกาศเริ่มโจมตีบริเวณพรมแดนซึ่งเป็นที่ตั้งของสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน
โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2564 คณะกรรมการประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา เมืองท่าขี้เหล็ก (Township Border Comittee / TBC ) ส่งจดหมายไปยังคณะกรรมการของไทยที่อำเภอแม่สาย แจ้งให้ทราบถึงความจำเป็นที่กองทัพพม่าจะต้องโจมตีสภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน/กองทัพแห่งชาติรัฐฉาน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณพรมแดนประเทศไทย-พม่า ตรงข้ามกับจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอนของไทย
ค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศทั้งห้าแห่ง และค่ายผู้ลี้ภัยอีกหนึ่งแห่งทางตอนใต้ของรัฐฉาน-พรมแดนประเทศไทย/Cr.ภาพ shanrefugees.org
เนื่องจากกองทัพแห่งชาติรัฐฉานแสดงจุดยืนเข้าข้างผู้ประท้วงที่ต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพพม่า จดหมายระบุว่า กองทัพพม่าจะพยายามไม่ให้มีกระสุนระเบิดตกเข้ามาในฝั่งไทย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างทั้งสองประเทศ
จากข่าวว่าอาจมีการโจมตีครั้งนี้ สร้างความหวาดกลัวอย่างมากให้กับผู้อยู่อาศัยในค่ายที่พักพิงชั่วคราวตามบริเวณพรมแดนรัฐฉาน-ประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ค่ายที่พักพิงเหล่านี้ตั้งอยู่บนสันเขาโล่ง และอยู่ในระยะที่กองทัพพม่าสามารถยิงปืนใหญ่โจมตีได้ ซึ่งผู้พลัดถิ่นในประเทศมีความหวาดกลัวตลอดมา ตอนนี้ยิ่งเพิ่มหวาดกลัวกับพวกเขามากขึ้นจากข่าวการทิ้งระเบิดโจมตีทางอากาศที่เพิ่งเกิดขึ้นในรัฐกะเหรี่ยง
ผู้พลัดถิ่นจัดทำบังเกอร์เพื่อหลบภัยในค่ายของตน/Cr.ภาพ shanrefugees.org
ผู้พลัดถิ่นในประเทศยังได้จัดทำบังเกอร์เพื่อหลบภัยในค่ายของตน และเริ่มซักซ้อมการอพยพเพื่อให้สามารถหลบหนีเมื่อเห็นสัญญาณการโจมตีทันที อย่างไรก็ดี หากการโจมตีเริ่มขึ้น หลักประกันความปลอดภัยของพวกเขามีอยู่แค่การข้ามมายังพรมแดนฝั่งไทยเท่านั้น
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) จึงขอวิงวอนอย่างเร่งด่วนต่อรัฐบาลไทย ให้อนุญาตให้ผู้พลัดถิ่นในประเทศเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศไทยทันทีที่เริ่มมีการโจมตี และจัดให้พวกเขามีที่พักพิง ที่หลบภัยอย่างปลอดภัย และเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม
คณะกรรมการผู้ลี้ภัยรัฐฉาน (พรมแดนไทย) ประกอบด้วยสมาชิกคณะกรรมการค่ายที่พักพิงของผู้พลัดถิ่นในประเทศทั้งห้าแห่ง และค่ายผู้ลี้ภัยอีกหนึ่งแห่งทางตอนใต้ของรัฐฉาน-พรมแดนประเทศไทย
ผู้พลัดถิ่นจัดทำบังเกอร์เพื่อหลบภัยในค่ายของตน/Cr.ภาพ shanrefugees.org
มีความเสี่ยงสูง ที่จะถูกโจมตี แม้จะเป็นพื้นที่สูง โดยเฉพาะดอยไตแลง รัฐฉาน ซึ่งมีชาวไทใหญ่ อาศัยจำนวนมาก ซึ่งเป็นพื้นที่โล่ง ทำให้เสี่ยงสูงต่อการการโจมตีด้วยปืนใหญ่หรือทางอากาศ แม้ไทย ไม่อยากเข้ายุ่งกับกิจการภายในของพม่า
แต่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ครับ
ผู้พลัดถิ่นจัดทำบังเกอร์เพื่อหลบภัยในค่ายของตน/Cr.ภาพ shanrefugees.org