เซ็นอีก 3 สัญญา “รถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช”คาดเปิดหวูดปี 2569

760

 

 

ความคืบหน้ารถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) ล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา ได้ลงนามอีก จำนวน 3 สัญญา ด้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่าตอนนี้เหลืออีก 4 สัญญา คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว และสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า โดยจะเร่งรัดให้สามารถลงนามในสัญญากับคู่สัญญาภายในปีนี้ และคาดว่าทั้ง 14 สัญญาจะแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 69 และระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา -หนองคาย คาดว่าจะเปิดบริการได้ ในปี 2572-2573 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

29 มี.ค. 64 ที่กระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการก่อสร้างโครงการถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) จำนวน 3 สัญญา ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทคู่สัญญา

ได้แก่ สัญญาที่ 4-3 งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ กับผู้แทนจากบริษัท เอ เอส แอสโซซิเอท เอนยิเนียริ่ง (1964) จำกัด บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไชน่า สเตท คอนสตรัคชั่น เอนยิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด /สัญญาที่ 4-4 งานโยธาสำหรับศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผู้แทนจาก บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) สัญญาที่ 4-6 งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-สระบุรี ผู้แทนจาก บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสรัคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีแขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชน ร่วมเป็นสักขีพยาน
.
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนี้ว่า โครงการมีระยะทาง 253 กม. จำนวน 14 สัญญา วงเงินรวม 1.79 แสนล้านบาทขณะนี้สัญญาที่ 1-1 สถานีกลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กม. ก่อสร้างแล้วเสร็จ

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 2-1สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. คืบหน้าประมาณ 60%, สัญญาที่ 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็ก และลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม จะออกหนังสือให้เอกชนเข้าพื้นที่ (NTP) เดือน เม.ย.นี้ ขณะที่สัญญาที่ 3-3 ช่วงบันไดม้า – ลำตะคอง ระยะทาง 21.60 กม., สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคอง – สีคิ้ว และช่วงกุดจิก – โคกกรวด ระยะทาง 37.45 กม. และสัญญาที่ 3-5 ช่วงโคกกรวด – นครราชสีมา ระยะทาง 12.38 กม.ผู้รับเหมากำลังเข้าพื้นที่ก่อสร้าง ส่วนสัญญาที่ 4-7 ช่วงสระบุรี – แก่งคอย ระยะทาง 12.99 กม. อยู่ระหว่างก่อสร้าง คืบหน้าประมาณ 1%

 

รถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา) Cr.ภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย Official/ ยูทูป Daoreuk Creation & Studio

 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนที่เหลืออีก 4 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.21 กม., สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง – นวนคร ระยะทาง 21.80 กม, สัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ – พระแก้ว ระยะทาง 13.30กม และสัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย – กลางดง และช่วงปางอโศก – บันไดม้า ระยะทาง 30.21 กม. จะเร่งรัดให้สามารถลงนามในสัญญากับคู่สัญญาภายในปีนี้ ซึ่งจะทำให้การก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร – นครราชสีมา มีความสมบูรณ์ คาดว่าทั้ง 14 สัญญาจะแล้วเสร็จ และพร้อมเปิดให้บริการได้ประมาณปลายปี 69 หรือช้าสุดไม่เกินต้นปี 70

ส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินรวม 2.5 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะแล้วเสร็จ และเสนอให้ รฟท. พิจารณาภายในเดือน ก.ค.2564 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2572-2573 หรือ ประมาณ 3-4 ปี หลังจากเส้นนครราชสีมาเปิดบริการ

โครงการรถไฟความเร็วสูงมีความสำคัญต่อประเทศไทยมากต่อจากนี้ นอกจากจะทำให้การสัญจรของคนไทยมีความสะดวก เพิ่มศักยภาพการแข็งขันของประเทศให้แกร่งขึ้น ช่วยกระจายความเจริญทางด้านเศรษฐกิจไปตามแนวเส้นทางรถไฟที่พาดผ่านแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของประเทศไทยสู่นานาชาติด้วย

ประการสำคัญ การลงมือทำด้วยคนไทยเอง จะทำให้มีความรู้มหาศาล ผลพลอยได้ จะทำให้รถไฟความเร็วสูงสายต่างๆ ที่เหลือ สร้างง่ายและเร็วขึ้นครับ