เปิดโฉมใหม”ท่าเรือปากเมง”ลุยเที่ยว”เกาะ-ชาย”หาดในอันดามัน

315

 

กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เตรียมพร้อมเปิด ” ท่าเรือปากเมง ประตูสู่อันดามัน ” รองรับการเปิดประเทศ เดือนพฤศจิกายนนี้ เผย ออกแบบท่าเทียบเรือฯ ที่มีฟังก์ชันการใช้งานสมบูรณ์ครบถ้วน สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ตั้งเป้าผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 90,000 คนต่อปี เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

31 ตุลาคม 2564 กรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า หนึ่งในท่าเรือที่กรมเจ้าท่า ได้เข้าไปดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุง คือ ท่าเรือปากเมง จ.ตรัง เป็นท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยวและคมนาคมทางน้ำที่สำคัญในจังหวัดตรัง เรือส่วนใหญ่เป็นเรือรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางจากหาดปากเมงไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆในหมู่เกาะทะเลตรัง อาทิ เกาะมุก เกาะรอก เกาะเชือก เกาะไหง เกาะกระดาน และเกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล ทั้งยังสามารถเชื่อมต่อไปยังเกาะลันตา เกาะพีพี หาดอ่าวนาง จังหวัดกระบี่ ด้วย

ในปี พ.ศ. 2562 ก่อนสถานการณ์โรคติดต่อ Covid 19 ท่าเรือปากเมง มีผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวใช้งานจำนวน 67,000 คนต่อปี คาดว่าในปี 2564 นี้ หลังปรับปรุงท่าเรือฯ แล้วเสร็จ จะมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นถึง 90,000 คนต่อปี

การพัฒนาปรับปรุงโครงสร้างท่าเรือฯ สืบเนื่องมาจากอายุการใช้งานของท่าเรือที่มีมากกว่า 20 ปี ทำให้ท่าเรือฯมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ใช้บริการได้ กรมเจ้าท่า ได้ทำการว่าจ้างที่ปรึกษาจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาออกแบบเพื่อปรับปรุงท่าเรือให้มีความแข็งแรง รูปแบบเหมาะสม สวยงาม

โดยในขั้นตอนการศึกษาออกแบบโครงการ ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนอย่างครบถ้วน

พร้อมทำโครงการศึกษาร่วมกับอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม โดยเมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จต้องขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ และเห็นควรให้อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมเป็นผู้บริหารจัดการท่าเรือเช่นเดิม

 

ท่าเรือปากเมงปรับปรุงใหม่  จ.ตรัง

สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นของท่าเรือปากเมง คือขนาดท่าเรือฯไม่เพียงพอกับความต้องการของผู้มาใช้บริการสะพานท่าเรือคับแคบ ไม่มีอาคารพักคอยผู้โดยสาร ความลึกร่องน้ำไม่เพียงพอและมีสภาพค่อนข้างตื้นเขิน ท่าเรือยังไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เช่น บันไดขึ้น–ลงเรือ หลักผูกเรือและยางกันชนเรือ โครงสร้างท่าเรือชำรุดทรุดโทรม ระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง โดยเฉพาะหน้าท่าและสะพานท่าเรือ ระบบน้ำประปาระบบขนถ่ายน้ำมันเชื้อเพลิง และระบบขนย้ายสินค้า ไม่มีพื้นที่สำหรับจอดเรือและรถยนต์ ส่งผลให้เกิดความแออัดของการจราจรทางบกในช่วงเทศกาล

กรมเจ้าท่า โดยกองวิศวกรรม จึงได้มีโครงการศึกษาวางแผนและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือฯให้มีฟังก์ชันการใช้งานสมบูรณ์ครบถ้วน พื้นที่ท่าเรือฯสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โครงสร้างมีความมั่นคง แข็งแรง พื้นที่ด้านหน้าท่าสามารถรองรับเรือเข้าเทียบท่าได้อย่างปลอดภัย พื้นที่ด้านหลังท่าเรือฯ เพิ่มพื้นที่การใช้สอยครบถ้วนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว การออกแบบท่าเรือเป็นสไตล์ Tropical modern หรือแบบเขตร้อนสมัยใหม่

โดยการสร้างสเปซที่โปร่งโล่งขนาดใหญ่ด้วยเส้นสายการออกแบบที่เรียบง่าย คำนึงถึงสภาพอากาศและภูมิประเทศเป็นปัจจัยหลัก ผสานกับบริบทสภาวะแวดล้อมธรรมชาติของเขาเมงที่ตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลังท่าเรือปากเมง

ทั้งนี้ โครงการปรับปรุงท่าเรือปากเมง จังหวัดตรัง ณ ปัจจุบัน มีความคืบหน้ากว่าร้อยละ 99 คาดว่าจะพร้อมให้บริการประชาชนและนักท่องเที่ยว พร้อมต้อนรับการเปิดประเทศและการท่องเที่ยวให้กับจังหวัดตรัง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้

รองรับการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบขนส่งอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม

พร้อมเชื่อมโยงการเดินทางในอนาคต ด้วยการลงเครื่องบิน ต่อรถ ลงเรือ ไปท่องเที่ยวตามหมู่เกาะต่างๆในจังหวัดตรัง เกิดเป็นเส้นทางการเดินเรือ “วงแหวนอันดามัน” ในอนาคตได้ ครับ