เดินหน้า!โครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-นครสวรรค์

1071

 

มาติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์” ระยะทาง 256 กม. กันบ้าง ล่าสุดการรถไฟแห่งประเทศไทย เตรียมประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1 ) งานสํารวจออกแบบรายละเอียดและ จัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ กําแพงเพชร และตาก ในระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2564 นี้ ซึ่งโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งโครงข่าย ตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมแนวตะวันตก-ตะวันออก ด้านบน (E-W Upper) จากแม่สอด-นครพนม ซึ่งมีความสำคัญและเป็นเส้นทางเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน จากเวียดนาม ผ่านลาว มาไทย ไปยังพม่า คาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จ พ.ย.65 และเปิดประมูลปี 66 

มีรายงานว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ประกาศ ขอเชิญประชาชนเข้าร่วมการประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1 ) งานสํารวจออกแบบรายละเอียดและ จัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟ สายแม่สอด-ตาก-กําแพงเพชร-นครสวรรค์

พร้อมระบุว่า ด้วยการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ดําเนินการศึกษางานสํารวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทํา รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อเตรียมการก่อสร้างทางรถไฟสายแม่สอด-ตาก-กําแพงเพชร-นครสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวางแนวเส้นทาง กําหนดแนวเขตทาง รวมทั้งการออกแบบเพื่อเชื่อมโยงระบบและ โครงสร้างพื้นฐาน ทบทวนผลการศึกษาผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจ สังคม การเงิน และแนวทางการลงทุนที่เหมาะสมของโครงการฯ

สํารวจออกแบบรายละเอียดทางด้านวิศวกรรม และสถาปัตยกรรม ประมาณราคา ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และจัดทําเอกสารประกวดราคาเพื่อการก่อสร้าง ตลอดจนศึกษาผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อม และจัดทํารายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของโครงการฯ

โดยได้ว่าจ้าง กลุ่มบริษัท ที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท เทสโก้ จํากัด (Lead Firm) ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บริษัท ดีไซน์ คอนเซป จํากัด และบริษัท ดอร์ช คอนซัลท์ เอเชีย จํากัด เป็นผู้ดําเนินงาน

โดยได้กําหนดการจัดประชุมปฐมนิเทศโครงการ (สัมมนาครั้งที่ 1 )ดังนี้

1. พื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ ในวันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 08.30 -12.00 น. ณ ห้องประชุม Grand Ballroom โรงแรม 42ซี เดอะชิค โฮเทล อําเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
2.พื้นที่จังหวัดกําแพงเพชร ในวันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมเยาวมาลย์ โรงแรมชากังราวริเวอร์วิว อําเภอเมือง จังหวัดกําแพงเพชร
3. พื้นที่จังหวัดตาก ในวันศุกร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2564 เวลา 08. 30 -12.00 ณ ห้องประชุมเวียงปิง โรงแรมเวียงตาก อําเภอเมือง จังหวัดตาก

สำหรับงานสํารวจออกแบบรายละเอียดและ จัดทํารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม นี้ เมื่อปี 2563 คณะกรรมการการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดรถไฟ ได้อนุมัติงบประมาณจำนวน 168 ล้าน เพื่อศึกษารายละเอียดการก่อสร้างทางคู่สายใหม่ “แม่สอด-ตาก-กำแพงเพชร-นครสวรรค์” ระยะทาง 256 กม. ด้วยเงินลงลงทุนงบประมาณ 96,000 ล้านบาท

เนื้องานจะศึกษาแนวเส้นทาง เขตเวนคืน จัดทำรายละเอียดโครงการ และการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA)

โดยโครงการเส้นทางรถไฟสายนี้ถือได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟเส้นแรกที่เชื่อมฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ East-West Economic Corridor: EWEC) จากแม่สอด-นครสวรรค์ บ้านไผ่-นครพนม ซึ่งมีความสำคัญและเป็นเส้นทางเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา สปป.ลาว เวียดนาม

ในเวบไซต์ข่าวสด รายงาน โดยอ้างจาก การรถไฟแห่ประเทศไทย หรือ รฟท.ว่า การศึกษาออกแบบรายละเอียดการก่อสร้างคาดว่าจะแล้วเสร็จ พ.ย.65 และอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) คาดว่าจะเสนอโครงการให้ ครม.อนุมัติปลายปี 65 และเปิดประมูลปี 66 ใช้เวลาก่อสร้าง 5-6 ปี แล้วเสร็จเปิดให้บรอการราวปี 71-72

 

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด แบ่งเป็น 2 ช่วงคือช่วงแรกมีระยะทาง 187.9 กิโลเมตรผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด 10 อำเภอ มีจำนวน 24 สถานี จุดเริ่มต้นจากสถานีนครสวรรค์ ผ่านอำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอเก้าเลี้ยว อำเภอบรรพตพิสัย เข้าสู่จังหวัดกำแพงเพชร ผ่านอำเภอขาณุวรลักษบุรี อำเภอคลองขลุง อำเภอเมือง อำเภอพรานกระต่าย อำเภอโกสัมพีนคร เข้าสู่พื้นที่จังหวัดตาก ผ่านอำเภอวังเจ้า สิ้นสุดเส้นทางช่วงที่ 1 ที่อำเภอเมืองตาก และช่วงที่ 2 ระยะทาง 68.5 กิโลเมตร จำนวน 5 สถานี ผ่านพื้นที่ 1 จังหวัด 2 อำเภอ เริ่มต้นจากจังหวัดตาก ผ่านอำเภอเมืองตากมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก สิ้นสุดที่อำเภอแม่สอด ในส่วนรูปแบบแนวเส้นทางมีทั้งทางระดับพื้น สะพานยกระดับสะพานขนาดเล็ก และอุโมงค์

โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายนครสวรรค์-กำแพงเพชรตาก-แม่สอด เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการเป็นศูนย์ด้านคมนาคมจองอาเซียน เพราะเป็นส่วนหนึ่งโครงข่าย ตามแผนพัฒนารถไฟทางคู่ เชื่อมแนวตะวันตก-ตะวันออกที่จะเชื่อมประเทศเพื่อนบ้านจะเวียดนามผ่านลาว ไปยังพม่า และ จะเป็นการเพิ่มความสะดวกในการขนส่งสินค้าของไทยไปยังพม่าทางด่านแม่สอด ที่ปัจจุบันรถบรรทุกขนส่งสินค้าหนาแน่นมาก และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียกลางต่อไป
และประการสำคัญเส้นทางนี้มีสภาพเป็นภูเขาสูง ซึ่งการก่อสร้างต้องมีทั้งเจาะอุโมงค์ และทางยกระดับจำนวนมาก ซึ่งการก่อสร้างต้องใช้วิศวกรรมขั้นสูง ซึ่งหากก่อสร้างได้สำเร็จจะสร้างองค์ความรู้ได้อย่างมหาศาล ครับ

หากเพื่อนๆ เห็นว่าข่าวนี้มีประโยชน์ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วย ครับ