เปิดแผนนำร่อง 3 เมืองต้นแบบ TOD ตามเส้นทางรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง

534

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia มาติดตามข่าว การสร้างเมืองตามเส้นทางรถไฟทางคู่-รถไฟความเร็วสูง หรือ TOD กันบ้าง โดยสนข.เผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็น TOD จำนวน 177 สถานี แต่เตรียมการพัฒนาสร้างเมืองต้นแบบ TOD จำนวน 3 แห่ง เพื่อต่อยอดผลการศึกษาให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว คือ สถานีรถไฟขอนแก่น สถานีรถไฟอยุธยา และ สถานีรถไฟพัทยา เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

26 ก.พ.64 สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เปิดเผยว่า กรณีที่กระทรวงคมนาคมได้นำแนวคิด Transit Oriented Development หรือ TOD มาดำเนินการควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบราง ภายใต้ “โครงการศึกษาพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง” เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าจากการเพิ่มจำนวนผู้โดยสารให้เข้าสู่ระบบรางมากยิ่งขึ้น

โดย ล่าสุด สนข. ได้ศึกษาจัดทำ “แผนแม่บทการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง TOD” ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศไทยมีการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชนที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง สังคม และชุมชน อย่างยั่งยืน” ซึ่งการศึกษาพบว่าประเทศไทยมีพื้นที่ที่มีศักยภาพ ในการพัฒนาเป็น TOD จำนวน 177 สถานี ตามแนวเส้นทางรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง (ไม่นับรวมในเขตกรุงเทพฯ ที่มีความหนาแน่นแตกต่างจากสถานีของภูมิภาค) โดยแบ่งการพัฒนาได้เป็น 5 ประเภท ตามศักยภาพของพื้นที่และบทบาทของสถานี ดังนี้
1. สถานีศูนย์ภูมิภาค 6 แห่ง เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางเมืองหลักของแต่ละภาค เป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการคมนาคมขนส่งผู้โดยสารขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
2. สถานีศูนย์กลางเมือง 49 แห่ง เป็นสถานีที่ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุมชนเมือง เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางระดับจังหวัด
3. สถานีศูนย์เมืองใหม่ 20 แห่ง เป็น TOD ที่มีการพัฒนารอบสถานีที่เกิดขึ้นใหม่ตามเส้นทางรถไฟที่มีการก่อสร้างเพิ่มเติม ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนาเป็นเมือง
4. สถานีศูนย์ชุมชน 84 แห่ง เป็นการพัฒนา TOD บริเวณโดยรอบสถานีที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายศูนย์กลางชุมชนระดับอำเภอเป็นส่วนใหญ่ มีทั้งพื้นที่ที่มีชุมชน และพื้นที่ที่ยังไม่มีการพัฒนามากนัก
5. สถานีศูนย์แบบพิเศษ 18 แห่ง เป็นสถานีที่เป็นศูนย์กลางการเปลี่ยนถ่ายการเดินทางในบริเวณที่มีโครงการพัฒนาเฉพาะอย่าง โดยมี 4 ประเภทย่อย ได้แก่ เมืองชายแดน 8 แห่ง เมืองการบิน 2 แห่ง เมืองท่องเที่ยว 6 แห่ง และเมืองการศึกษา 2 แห่ง

แผนแม่บทการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง TOD/ ที่มา Otpthailand

 

ทั้งนี้การพัฒนา TOD ไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการผลักดันของภาครัฐแต่เพียงลำพัง แต่ความสำเร็จของการพัฒนาต้องเกิดจากการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น ทั้งองค์กรปกครองท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่มีบทบาทหน้าที่ รวมทั้งอำนาจในการริเริ่ม ร่วมตัดสินใจ และร่วมผลักดันในการพัฒนา TOD ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อท้องถิ่น สนข. จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการพัฒนา 7 ประการ โดยให้ความสำคัญและเน้นบทบาทความร่วมมือของท้องถิ่น ดังนี้
1. กำหนดให้ TOD บรรจุอยู่ในผังการพัฒนาของประเทศในทุกระดับ ทั้งในผังนโยบายระดับชาติ ระดับภาค ระดับจังหวัด ไปจนถึงผังเมืองรวมหรือผังเมืองเฉพาะ
2. รวบรวมที่ดินขนาดใหญ่และต่อเนื่องกับพื้นที่สถานีรถไฟเป้าหมายเพื่อการพัฒนา TOD อย่างเป็นเอกภาพ โดยมุ่งเน้นวิธีการที่อาศัยความร่วมมือจากภาคประชาชนและมุ่งเน้นประโยชน์ของส่วนรวม
3. กำหนดให้ใช้มาตรการทางผังเมืองเชิงสร้างสรรค์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและความเหมาะสมของพื้นที่
4. จัดตั้งองค์กรขับเคลื่อน TOD ในทุกระดับ จากระดับรัฐบาลจนถึงท้องถิ่น เพื่อบูรณาการความร่วมมือและมีเอกภาพในการบริหารจัดการของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

5. สร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนซึ่งเป็นกำลังหลักในการพัฒนา ด้วยการกำหนดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกิจการต่างๆ
6. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งภายในสถานีเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงระบบราง รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานภายนอกสถานี ที่เอื้ออำนวยการเชื่อมต่อระหว่างสถานีกับย่านพาณิชยกรรม ย่านที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะต่างๆ
7. จัดให้มีกฎหมายรองรับการพัฒนา TOD เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ TOD ทั้งระบบ ทั้งการประยุกต์ใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถดำเนินการพัฒนาได้อย่างรวดเร็ว การปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงการพัฒนากฎหมาย TOD ขึ้นใหม่

และในโครงการศึกษานี้ สนข. ยังได้คัดเลือก 3 สถานี ที่มีศักยภาพในการพัฒนาสร้างเมืองต้นแบบ TOD เพื่อต่อยอดผลการศึกษาให้เป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว ได้แก่

1. สถานีรถไฟขอนแก่น TOD ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้เป็นศูนย์กลางเมืองขอนแก่นแห่งใหม่ ที่มีการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างผสมผสานมีการเชื่อมโยงกันระหว่างพื้นที่ชุมชนเดิมและชุมชนใหม่ เพิ่มพื้นที่สำหรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. สถานีรถไฟอยุธยา TOD ศูนย์กลางเมืองภาคกลาง ตัวแทนกลุ่มแนวเส้นทางรถไฟสายเหนือ โดยมีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีให้สอดคล้องกลมกลืนกันระหว่างความเป็นเมืองเก่ากับความทันสมัย เน้นการเชื่อมต่อพื้นที่สถานีความเร็วสูงที่จะเป็นศูนย์กลางเมืองใหม่เข้ากับพื้นที่ชุมชนเมืองเดิมด้วยสะพานทางเดินข้ามแม่น้ำ ท่าเรือข้ามฟาก และระบบขนส่งมวลชนรอง (Feeder) เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมต่อกับสถานีรถไฟความเร็วสูงอย่างมีประสิทธิภาพ เชื่อมพื้นที่สาธารณะภายในเมืองด้วยโครงข่ายพื้นที่สีเขียว ทางจักรยาน ทางเท้า และทางยกระดับ รักษาสมดุลของการอนุรักษ์และพัฒนา

 

 

3. สถานีรถไฟพัทยา ศูนย์ภูมิภาคตะวันออกและ EEC มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟพัทยาให้เป็น ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ของพัทยา โดยเชื่อมโยงพื้นที่กับชายทะเลพัทยาซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญเดิม เพิ่มพื้นที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมกับสถานีรถไฟความเร็วสูง

สนข.ระบุด้วยว่า แผนแม่บทการพัฒนา TOD ฉบับนี้ จะเป็นหลักในการพัฒนา TOD ในทุกภูมิภาคของประเทศได้อย่างเป็นรูปธรรม ช่วยสร้างมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองควบคู่กับการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐให้เกิดความคุ้มค่า ยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน

การพัฒนาระบบคมนาคม นอกจากจะทำให้การสัญจรไปมาสะดวกแล้ว ยังจะช่วยสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ ที่ผ่าน และเป็นการกระจายความเจริญสู่เมืองต่างๆ อันจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และประการสำคัญ การพัฒนาตามบทการพัฒนา TOD จะทำให้เมืองมีความทันสมัย ดูเป็นระเบียบกว่าที่เป็นอยู่ ครับ

หากเพื่อนๆ ชอบข่าวนี้ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ ด้วยครับ