ลุยเรือพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของไทย

492

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การพัฒนาระบบการขนส่งทางน้ำของไทยกันบ้าง ที่ล่าสุด นายกรัฐมนตรี เปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมเปิดท่าเรือสะพานพุทธ ท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย ที่สามารถรองรับทั้งการโดยสารที่ปลอดภัย มีการบริการที่ทันสมัย เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

 

22 ธันวาคม 2563 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการทดลองเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา MINE SMART FERRY : “MISSION NO EMISSION” River Mass Transit และเปิดท่าเรือสะพานพุทธ (Smart Pier) โดยมี พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคมร่วมในพิธีฯ บริเวณท่าเรือ แคท ทาวเวอร์ เขตบางรัก และท่าเรือสะพานพุทธ กรุงเทพฯ

โดยจากนโยบายของรัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่กำหนดแผนยุทธศาสตร์ โดยมีเป้าหมายในปี 2573 มุ่งให้ประเทศไทยมีการผลิตยานยนต์ ไฟฟ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตยานยนต์ทั้งหมด กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ได้สนองนโยบายดังกล่าว ด้วยการร่วมกับภาคเอกชนส่งเสริม ผลักดัน และยกระดับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าในแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อให้มีมาตรฐานและปลอดภัย ลดมลพิษทางอากาศ ลดต้นทุนทางด้านพลังงานของประเทศ

โดยเรือดังกล่าวสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 250 คน และได้รับการจดทะเบียนเป็นเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้าเป็นรายแรกของไทย อีกทั้งได้รับรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติปี 2563 จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งมีความพร้อมในการทดลองให้บริการฟรีเพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2563 – 14 กุมภาพันธ์ 2564 เส้นทางจากท่าเรือสะพานพระราม 5 -​ ท่าเรือสาทร โดยในวันจันทร์ – วันศุกร์ จอดรับ -​ ส่งผู้โดยสารบริเวณท่าเรือ 11 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือพระราม 5 พระราม 7 เกียกกาย บางโพธิ์ เทเวศร์ พรานนก ปากคลองตลาด ราชวงศ์ กรมเจ้าท่า แคททาวเวอร์ และสาทร

ส่วนในวันเสาร์ – วันอาทิตย์ จอดรับ -​ ส่งผู้โดยสารบริเวณท่าเรือ 5 แห่ง ได้แก่ ท่าช้าง วัดอรุณฯ วัดกัลยาณมิตร กรมเจ้าท่า และแคททาวเวอร์ โดยได้จัดทำแผนพัฒนาเส้นทางการให้บริการจากท่าเรือสะพานพระนั่งเกล้า -​ ท่าเรือสาทร เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงการเดินทางรถ – ราง – เรือ อาทิ เชื่อมกับระบบรถไฟฟ้า BTS / MRT และรถโดยสารสาธารณะ

ทั้งนี้ กรมเจ้าท่าได้ร่วมกับภาคเอกชนพัฒนาท่าเรือสะพานพุทธให้เป็นท่าเรืออัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย (Smart Pier) ให้สามารถรองรับทั้งการโดยสารที่ปลอดภัย มีการบริการที่ทันสมัย อาทิ เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายอัตโนมัติ ป้ายอัจฉริยะ แจ้งเวลาเรือเข้าเทียบท่า เครื่องจำหน่ายบัตรโดยสารอัตโนมัติ ระบบตรวจสอบเส้นทางการเดินเรือและตารางเรือ ระบบความปลอดภัยและตรวจนับความหนาแน่นของผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละวัน ระบบไฟส่องสว่างด้วยระบบโซลาร์เซล ตลอดจนมีความเป็นอารยสถาปัตย์ Friendly Design ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ โดยได้รับการสนับสนุนการก่อสร้างสุขาสาธารณะทั้งห้องสุขาชาย – หญิง และห้องสุขาสำหรับผู้พิการจากมูลนิธิเอสซีจี (SCG) เพื่อร่วมสร้างความมั่นใจในการเป็นท่าเรืออัจฉริยะเพื่อคนทั้งมวล

รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญในแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกสบาย พร้อมเชื่อมโยงการเดินทาง รถ – ราง – เรือ เพื่อรองรับการเดินทางวิถีใหม่ในยุค New Normal ซึ่งเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนควบคู่กันไปอย่างยั่งยืน

แนวทางการเชื่อมโยงการเดินทาง รถ – ราง – เรือ นอกจากจะทำให้การเดินทางเกิดความสะดวกแล้ว การเน้นพลังสะอาดอย่างพลังงานไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดต้นทุนทางด้านพลังงานของประเทศ และจะทำให้ระบบการคมนาคมของของไทย มีความโดนเด่นอยู่ในระดับแถวหน้าของโลกด้วย ครับ

หากเพื่อนๆ เห็นว่าข่าวนี้มีประโยชน์ รบกวนกดติดตาม กดถูกใจ และกดแชร์ด้วยครับ