ไทยจะส่งยานอวกาศไปดวงจันทร์ แค่ฝันหรือทำได้จริง?

566

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว ไทยเล็งส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ กันบ้าง ซึ่งจะเป็นไปได้หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เราจะมาดูถึงความเป็นไปได้กันครับ

โดยเรื่องนี้มาจากกรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) บอกว่า เร็วๆ นี้ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ที่จะสามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี ลั่นสิ่งเหล่านี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทยว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่ด้อยพัฒนาอีกแล้ว เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.63 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภายในงานเปิดโครงการ “วัคซีนเพื่อคนไทย” ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย ดร.เอนก กล่าวว่า วันนี้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทยกำลังพุ่งทะยานไปข้างหน้า นอกจากเรื่องการผลิตวัคซีนที่เป็นเรื่องใหญ่และสำคัญแล้ว เรายังมีบริษัทคนไทยที่สามารถผลิตได้แม้กระทั่งยุทโธปกรณ์อย่างรถถังและเรืออีกด้วย

และ ที่สำคัญ เร็วๆ นี้ไทยจะเป็นชาติที่ 5 ของเอเชีย ถัดจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่จะสามารถผลิตยานอวกาศและส่งไปโคจรรอบดวงจันทร์ได้ โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาดำเนินการไม่เกิน 7 ปี และอาจมีการขอความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชนในการระดมทุน ตนเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเปลี่ยนวิธีคิดของคนไทย ว่าไทยไม่ใช่ประเทศที่ด้อยพัฒนาอีกแล้ว เราเป็นประเทศที่มีอนาคต มีโอกาส และมีความหวัง

โดยเรื่องนี้ ด้านดร.สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์ว่า โครงการผลิตยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ เป็นหนึ่งในโรดแมปของไทย ซึ่งเริ่มอย่างไม่เป็นทางการเมื่อ 2 ปีที่แล้ว จากการประชุมวางแผนระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศของไทย โดยเดือนหน้าจะประกาศอย่างเป็นทางการ เป็นเรื่องที่ต้องทำ หรืออย่างน้อยต้องมีการสร้างดาวเทียมโดยคนไทย 100% เพื่อความมั่นคงใช้พิสูจน์ทรัพยากรธรรมชาติและพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ แบบเดียวกับของอินเดีย

แต่ในเฟสแรกไทยยังไม่ทำจรวด ดังนั้นภายใน 7 ปี จึงเป็นกระบวนการสร้างดาวเทียม ก่อนพัฒนาในเฟสต่อไปในการสร้างจรวด ซึ่งขณะนี้เทคโนโลยีเริ่มนิ่งไม่มีอะไรใหม่ อย่างกรณีของอีลอน มัสก์ มีการซื้อจรวดจากรัสเซีย ซึ่งเอกชนสามารถทำได้

สำหรับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอวกาศของไทยนั้น ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า เคยกล่าวไว้ว่า จะเร่งเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศต่อไปอย่างเต็มกำลัง พร้อมกับการขยายกลุ่มผู้ใช้งานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศไปสู่ภาคสังคม ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมให้มากยิ่งขึ้น

รวมทั้งพัฒนารูปแบบข้อมูลและผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการกลุ่มผู้ใช้งานธุรกิจในกลุ่มต่างๆ ตลอดจนทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ผลักดัน Co-creation ในทุกภาคส่วนบนพื้นฐานของความโปร่งใสตรวจสอบได้

ณ วันนี้ เทคโนโลยีอวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัว และยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้กับประเทศในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจอุตสาหกรรมใหม่ให้ดียิ่งขึ้น สามารถเข้าถึงกลุ่มรากหญ้านำไปสู่การจ้างงาน เกิดการนำเงินทุนเข้าประเทศไทย สิ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทยในช่วง 10-20 ปีข้างหน้า

พร้อมระบุว่า อวกาศเป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยที่จะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศในทุกๆ มิติ ซึ่งหากมองโดยภาพรวมแล้ว สิ่งที่ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) จะต้องเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือ 1) การศึกษาโอกาสทางธุรกิจ 2) สร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน 3) สร้างคน

และส่วนที่ 4 ซึ่งเป็นส่วนสุดท้าย คือการส่งเสริมการกำกับในภาครัฐ ภาคเอกชน และต่างประเทศ ที่ต้องการมาใช้ประโยชน์จากอวกาศในประเทศไทย ซึ่งในขณะนี้เรามีการเตรียมการในการร่าง พรบ.กิจการอวกาศอยู่แล้ว ซึ่ง พรบ. ดังกล่าว อยู่ระหว่างการเตรียมเสนอ ครม. เพื่อพิจารณา ก็จะ สามารถนำมาช่วยส่งเสริมในการกำกับการดำเนินงานในอนาคตได้ รวมถึงรองรับอุตสาหกรรมอวกาศและกิจการอวกาศที่จะเกิดขึ้นภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องและเตรียมรับมือกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอวกาศได้อีกด้วย

เกี่ยวกับร่าง (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. . นี้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การประชุมคณะกรรมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดดีอี) ครั้งที่ 4/2563 ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานโดยได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. และเห็นชอบให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ดำเนินการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา และนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาโดยเร็วต่อไป

สำหรับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจาก (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ 1.ก่อให้เกิดนโยบายและแผนการบริหารจัดการด้านกิจการอวกาศอย่างเป็นรูปธรรม

2.เป็นการยกระดับกฎหมายเพื่อให้เกิดการกำกับ และส่งเสริมกิจการอวกาศทั้งภาครัฐและเอกชน 3.ทำให้มีกลไกสอดคล้องกับพันธกรณีของไทยภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศ และ 4.มีกลไกการขับเคลื่อนนโยบายอวกาศ 2 รูปแบบ ได้แก่ (1)คณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ทำหน้ากำหนดนโยบายกิจการอวกาศตามขอบเขตของพระราชบัญญัติ และ (2) สำนักงานกำกับกิจการอวกาศแห่งชาติ ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการให้กับคณะกรรมการฯ และกำกับการดำเนินงานตามขอบเขตของนโยบาย

ดังนั้นจากข่าวรมว.การอุดมศึกษา ได้แสดงความจึงไม่ได้กล่าวเพียงลอยๆ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทย มีแนวคิดที่จะเดินหน้าสู่กิจกรรมด้านอวกาศจริงๆ ซึ่งถ้าหากทำได้จริง ก็จะเป็นการยกระดับประเทศไทยไปอีกขั้น และช่วยสร้างตำแหน่งงานจากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องได้มหาศาล และเป็นการก้าวข้ามอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และกำลังย้ายฐานหนี ไปเวียดนาม หรือประเทศอื่นๆ ครับ