ยันชัด! ปี 2570 รถไฟฟ้ากรุงเทพฯเสร็จหมดยาวกว่า 553 กม.

449

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว ความคืบหน้าการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยกันบ้าง ที่ล่าสุด   รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า  ภายในปี 2565 รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 5 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร   ส่วนโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2570  โดยจะมีระยะทางกว่า 553 กิโลเมตร พร้อมลั่นภายในปี 2571 ประเทศไทยจะมีระบบรางขนาดใหญ่ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคของประเทศ    เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 25 พฤศจิกายน 2563   นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน รองปลัดกระทรวงคมนาคม  กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมมีนโยบายพัฒนาการคมนาคมระบบรางให้เป็นระบบหลักในการขนส่ง เพื่อเพิ่มปริมาณการขนส่งขึ้นร้อยละ 30 พร้อมแนวคิดการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมการให้บริการเพื่อให้การใช้งานรางได้เต็มประสิทธิภาพ เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนสร้างผลตอบแทนให้ประเทศชาติอย่างคุ้มค่าสูงสุด

 

 

 นายพิศักดิ์ จิตวิริยะวศิน กล่าวว่า การเดินทางด้วยระบบราง คือ การเดินทางแห่งอนาคตที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทที่เน้นการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบโลจิสติกส์ เพื่อให้ระบบรางเป็นระบบหลัก ในการเดินทางและการขนส่งของประเทศ ทั้งการพัฒนารถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเมือง เพื่ออำนวยความสะดวกและบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯและปริมณฑล การพัฒนารถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างเมือง หรือการพัฒนารถไฟความเร็วสูง เพื่อเพิ่มศักยภาพระบบรางเชื่อมการเดินทางระหว่างประเทศและช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ซึ่งรัฐบาลเล็งเห็นถึงความคุ้มค่าและมูลค่าเพิ่มในอนาคตจากการลงทุน จึงวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางในสัดส่วนมากที่สุด โดยดำเนินโครงการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง

 ที่ผ่านมาระบบรางมีบทบาทต่อการคมนาคมขนส่งของประเทศไทยค่อนข้างน้อย เนื่องจากการพัฒนาระบบขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทำให้การเจริญเติบโตของเมืองกระจัดกระจายไม่ตอบสนองต่อจำนวนประชากรภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการลงทุนระบบรางมากขึ้น เพื่อผลักดันระบบรางเป็นระบบหลักการเดินทางและการขนส่งของประเทศในอนาคต ดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ก่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศ การจ้างงาน การท่องเที่ยว และการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันทางรถไฟครอบคลุมพื้นที่กว่า 47 จังหวัด ระยะทางกว่า 4,044 กิโลเมตร แต่ยังไม่เพียงพอเพราะสัดส่วนของทางรถไฟเป็นทางเดี่ยวต้องผลักดันโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง ให้มีเส้นทางเพิ่มมากขึ้น โดยคาดว่าภายในปี 2565 รถไฟทางคู่จะแล้วเสร็จเพิ่มอีก 5 สาย คิดเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการขนส่งทางรางและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ช่วยกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่นต่าง ๆ รวดเร็วมากขึ้น

 โครงการรถไฟความเร็วสูงขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวน 2 โครงการ คือโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ – นครราชสีมาและโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมดำเนินโครงการอีก 6 โครงการ ซึ่งหากแล้วเสร็จทั้งหมดจะเป็นระยะทางรวมกว่า 2,466 กิโลเมตร

 สำหรับโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เมื่อโครงการทั้งหมดแล้วเสร็จจะมีจำนวนทั้งสิ้น 14 สายทาง 367 สถานี คิดเป็นระยะทางกว่า 553 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรได้ คาดว่าโครงข่ายรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งหมดจะแล้วเสร็จภายในปี 2570

 กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญการพัฒนาระบบรางในทุกภูมิภาคโดยภายในปี 2571 ประเทศไทยจะมีระบบรางขนาดใหญ่ที่เข้าถึงทุกภูมิภาคของประเทศ และเมื่อโครงการทั้งหมดตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แล้วเสร็จ จะเป็นการยกระดับมาตรฐานรถไฟไทย ให้มีความเจริญก้าวหน้า เป็นการลงทุนเพื่อวางรากฐานความมั่นคงด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทยในระยะยาว สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์ของภูมิภาค สร้างศักยภาพและโอกาสใหม่ทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมถึงสนับสนุนการขยายตัวของเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจโดยรอบเส้นทาง เกิดการกระจายความเจริญอย่างทั่วถึง และลดความเหลื่อมล้ำของประเทศไทย

การพัฒนาระบบราง  นอกจากจะทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทั้งในเรื่องการขนส่งแล้ว ยังจะมีส่วนในเรื่องการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ  รวมทั้งเพื่อการพัฒนาอุตสหกรรม ที่จะนำพาประเทศให้รุดหน้ามากขึ้น ดังนั้น ต่อจากนี้ หวังว่า เราคงจะได้เห็นทางรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงมืออย่างจริงในเรื่องการอุตสาหกรรมระบบราง โดยเฉพาะการผลิตรถไฟ   อย่างที่อินโดนีเซียเขาทำสำเร็จมาแล้วครับ