สายสีเหลือง ก้าวอีกขั้น!! ติดตั้งคานเหล็ก 60 ม.ไร้เสารองรับข้ามมอเตอร์เวย์

703

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองกันบ้าง ที่ล่าสุด รฟม.) เตรียมติดตั้งคานเหล็ก หรือ Steel Guideway Beam ซึ่งมีความยาว 60 เมตร จุดแรกของโครงการฯ ที่จะต้องสร้างคานทางวิ่ง ข้ามผ่านพื้นที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรี สายใหม่ หรือมอเตอร์เวย์ ที่พิเศษของการติดตั้งคานนี้ คือ ไม่มีเสารองรับกึ่งกลางคาน  ซึ่งถือว่าเป็นความก้าวหน้าในด้านวิศวกรรมในการก่อสร้างรถไฟฟ้าของไทยไปอีกขั้น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

มีรายงานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ว่า เตรียมติดตั้งคานเหล็ก หรือ Steel Guideway Beam ซึ่งมีความยาว 60 เมตร ซึ่งยาวกว่าคานคอนกรีต จุดแรกของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ที่จะต้องสร้างคานทางวิ่ง (ระหว่างสถานีศรีกรีฑา – สถานีพัฒนาการ) ข้ามผ่านพื้นที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เส้นทางกรุงเทพฯ-ชลบุรึ สายใหม่ หรือมอเตอร์เวย์ โดยไม่มีเสารองรับกึ่งกลางคาน
สาเหตุที่ติดตั้ง คานเหล็ก (Steel Guideway Beam) ไม่ใช้ คานคอนกรีต ในจุดนี้ เนื่องจาก มีน้ำหนักเบาสามารถออกแบบให้ยาวกว่า คานคอนกรีต (Guideway Beam) จึงเป็นการตอบโจทย์กับการก่อสร้างมากที่สุด
โดยมีขั้นตอนการก่อสร้างดังนี้
ปรับพื้นที่ไหล่ทาง บนถนนคู่ขนานมอเตอร์เวย์ฝั่งขาเข้า บริเวณถัดจากปากซอยพัฒนาการ 53 เพื่อใช้เป็นพื้นที่ประกอบชิ้นงาน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดติดตั้งประมาณ 1 กม.
ในขณะเดียวกันจะรื้อแบริเออร์ บนทางต่างระดับพระราม 9 ควบคู่กันไป เพื่อติดตั้งพื้นเหล็กชั่วคราวระหว่างสะพาน สำหรับให้รถบรรทุกคานเหล็ก สามารถวิ่งข้ามได้
คานเหล็กขนาดความยาว 60 เมตร แบ่งออกเป็น 3 ชิ้นงาน ความยาว 17.30 เมตร 25.40 เมตร และ 17.30 เมตร ขนส่งมายังจุดประกอบชิ้นงาน
เมื่อประกอบแล้วเสร็จจะเคลื่อนย้ายไปยังจุดติดตั้ง รถบบรรทุกคานเหล็ก จะวิ่งจากจุดประกอบไปที่จุดติดตั้ง ระยะทางประมาณ 1 กม. โดยใช้ถนนมอเตอร์เวย์ฝั่งขาเข้า
เมื่อไปถึงจุดติดตั้งบนทางต่างระดับพระราม 9 รถบรรทุกคานเหล็กจะวิ่งผ่านแนวแบริเออร์ที่ได้ดำเนินการรื้อย้ายแล้ว ในลักษณะขวางแนวเส้นถนน เพื่อให้คานเหล็กอยู่ในลักษณะพร้อมสำหรับยกติดตั้ง
การยกติดตั้งคานเหล็กชิ้นที่ 1 จะยกโดยเครน 2 คัน ที่จอดอยู่บนถนนศรีนครินทร์ ในระหว่างการยกคานเหล็กเพื่อติดตั้ง มีความจำเป็นต้องปิดการจราจรชั่วคราว ทุกช่องจราจร บนทางต่างระดับพระราม 9 ประมาณ 20 นาที สำหรับคานเหล็กชิ้นที่ 2 จะดำเนินการติดตั้งในคืนถัดไป โดยวิธีเดียวกัน
เมื่อติดตั้งคานเหล็กเรียบร้อยแล้ว จะดำเนินการติดตั้งตาข่ายชั่วคราว เพื่อป้องกันวัสดุตกหล่น จากนั้นติดตั้ง Bracing (เบรสซิ่ง) เพื่อยึดคานเหล็กทั้ง 2 ตัว หลังจากนั้นจะปรับพื้นที่ประกอบชิ้นงาน และพื้นที่ติดตั้ง ให้คืนสภาพเดิมโดยเร็ว
ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ยังมีแผนจะติดตั้งคานทางวิ่งแบบ Steel Guideway Beam ในจุดอื่นๆ อีก 5 แห่ง ได้แก่ บริเวณข้ามคลองลาดพร้าว บริเวณข้ามคลองบางซื่อ บริเวณข้ามคลองสำโรง บริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว และบริเวณแยกบางกะปิ
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรล แบบคร่อมราง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร มี 23 สถานี โดยการก่อสร้างคานทางวิ่ง (Guideway Beam) จะใช้คาน 2 ประเภท คือคานคอนกรีต (Guideway Beam) และคานเหล็ก (Steel Guideway Beam) ความคืบหน้าในการก่อสร้าง ณ เดือนตุลาคม 2563 งานโยธาอยู่ที่ 68.31 % งานระบบรถไฟฟ้า 62.91 % ความก้าวหน้าโดยรวม 65.96 %
ตามแผนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองจะเริ่มเปิดทดสอบเดินรถในเดือนเมษายน 2564 จากนั้นจะเปิดทดลองเดินรถเสมือนจริง โดยให้ประชาชนร่วมใช้บริการฟรี! ในเดือนกรกฎาคม 2564 ช่วงสำโรง-พัฒนาการก่อน และเก็บค่าโดยสารในเดือนตุลาคม 2564
โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ถือเป็นความก้าวไปอีกขั้นของระบบรถไฟฟ้าของไทย เพราะเป็นรถโมโนเรล 2 สายแรก อีกสายคือ สายสีชมพู นอกจากนี้เรายังได้เห็นถึงความก้าวด้านวิศวกรรมในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าที่ก้าวไปอีก เพราะเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยครับสำหรับการก่อสร้างบนสภาพพื้นที่ถนนของไทยที่ทุกท่านเห็นๆ อยู่ และหากแล้วเสร็จ ก็จะเกิดองค์ความรู้อย่างมหาศาล สามารถนำไปต่อยอดสร้างอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคต และมีประโยชน์ต่อประเทศไทย ในการข้ามพ้นกำกับดักรายได้ระดับกลาง
และนี่ละครับ ความคุ้มค่าที่แท้จริงจากการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ไม่ใช่ดูแค่ กำไร ขาดทุนจากการจัดเก็บค่าโดยสาร ครับ