ไทยเล็งตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

542

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มา ติดตามข่าวแผนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยกันบ้าง

ที่ล่าสุด ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม และปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีการหารือร่วมกันในเรื่องนี้

โดยก่อนหน้านี้มีข่าวว่า ได้เคยลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในพื้นที่ภาคตะวันออก และมีข่าวว่า กระทรวงกลาโหม สนใจพื้นที่จังหวัดชลบุรี และกาญจนบุรี เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

3 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงกลาโหม นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมคณะ ร่วมหารือพลเอกณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม เกี่ยวกับการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

โดยก่อนหน้ามีกระแสข่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้เคยลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ โครงการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พื้นที่ภาคตะวันออก แต่อยู่นอกพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

เพื่อให้ประเทศไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ ชิ้นส่วน ยุทโธปกรณ์ป้องกันประเทศ ทดแทนการนำเข้า ตามแนวการพัฒนาเศรษฐกิจตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล

ซึ่งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศนี้ รัฐหรือเอกชนสามารถลงทุนได้ โดยในส่วนของรัฐยังอยู่ระหว่างการหารือ โดยมีมีข่าวว่า กระทรวงกลาโหมสนใจพื้นที่ จ.ชลบุรี และกาญจนบุรี

ตาม เอกสารทางวิชาการ เรื่อง แนวทางการพัฒนากองทัพไทยเพื่อรองรับนโยบาย Thailand 4.0 ของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ระบุว่า อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ คือ ปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศนั้นๆ

หลายประเทศได้ให้ความสำคัญอย่างมากต่ออุตสาหกรรมป้องกันประเทศ เช่น กลุ่มประเทศที่จัดอยู่ในกลุ่มประเทศชั้นนำ หรือ “First Tier” ซึ่งเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสมบูรณ์แบบและครบวงจรสามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอดได้ถึงระดับสูงสุด เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน และกลุ่มประเทศยุโรปตะวันตก

ส่วนกลุ่มประเทศที่จัดอยู่ในชั้นที่ 2 หรือ “Second Tier” ที่มีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศครบวงจรแต่ยังไม่สามารถพัฒนาองค์ความรู้ต่อยอด ได้ถึงระดับสูงสุดด้วยข้อจำกัดบางประการ เช่น ข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจหรือการเมือง ตัวอย่างประเทศในกลุ่มนี้ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย บราซิล อาร์เจนติน่า อิสราเอล ออสเตรเลีย สิงคโปร์ แคนาดา และแอฟริกาใต้

โดยภาคอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของทั้งสองกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่สามารถนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังสร้างความมั่นคงในลักษณะของการพึ่งพาตนเองได้

และประเทศที่จัดอยู่ในชั้นที่ 3 หรือ “Third Tier” เป็นประเทศที่มีความสามารถที่จะผลิตยุทโธปกรณ์ได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เช่น ไทย เป็นต้น

โดยประเทศไทยมีความสามารถที่จะผลิตยุทโธปกรณ์ได้เพียงบางส่วน เนื่องจากสถานภาพของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยในปัจจุบันเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กมีขีดความสามารถเพียงเพื่อการซ่อมบำรุง และสร้างอาวุธยุทโธปกรณ์บางประเภทสนับสนุนให้แก่กองทัพเท่านั้น

แต่อย่างไรก็ตามในประเทศไทยปัจจุบันมีโรงงานอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในสังกัดกระทรวงกลาโหม จำนวน 48 โรงงาน และยังมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศในภาคเอกชนอีกประมาณ 60 บริษัท

โดยสามารถผลิตยุทโธปกรณ์ได้เช่น รถเกราะ เสื้อเกราะป้องกันกระสุน รวมถึงอุตสาหกรรม ต่อและซ่อมเรือ เป็นต้น

ดังนั้นแล้ว หากประเทศไทย สามารถเดินหน้าอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ได้ตามแผน นอกจากการพึ่งพาตนเองเป็นหลักประกันความมั่นคงที่ไม่ต้องไปพึ่งพาผู้อื่นแล้ว

ยังเป็นการสนับสนุนการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมในประเทศ พัฒนาระบบเศรษฐกิจและส่งการส่งออก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้แก่ประชาชน และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกด้วยครับ