ได้เวลาลุยต่อ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน

690

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามโครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงกรุงเทพ -นครราชสีมากันบ้าง ที่ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทยจีนนะครับครั้งนี้เป็นครั้งที่ 1 ประจำปี 2563

โดยเปิดเผยความคืบหน้างานโยธาทั้งหมด 14 สัญญา นั้น กำลังเร่งดำเนินการ โดยระบุว่า สัญญาทั้งหมดนี้ จะใช้เวลาก่อสร้างในระยะเวลาประมาณ 64 เดือน หรือ ประมาณ 5 ปี นิดๆ

ส่วนสัญญา 2.3 ซึ่งเป็นสัญญาที่ 15 เกี่ยวกับ งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร นั้นจะประชุมในระบบ Video Conference กับทางจีนในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ว่า เมื่อ 15 พ.ค.63 กระทรวงคมนาคม ได้มีการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1 ประจำปี 2563

โดยนายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องของรถไฟความเร็วสูงไทยจีน เป็นโครงการที่มีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งจะเป็นการดำเนินการในช่วงกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดหนองคาย โดยระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา มีการดำเนินการในการก่อสร้าง ที่เรียกว่างานโยธา ทั้งสิ้น 14 สัญญา และสัญญาที่เกี่ยวกับงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากรอีก 1 สัญญา รวมเป็น 15 สัญญา

ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1.งานโยธา ทั้งสิ้น 14 สัญญา มีดังนี้

สัญญาที่ 1 -1 เป็นงานโยธาก่อสร้างระหว่างช่วงกลางดงถึงปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ขณะนี้ความก้าวหน้าดำเนินการไปได้ 83.81 % ช้ากว่าแผน 4.19 %

สัญญา 2-1 เป็นสัญญาการก่อสร้างงานโยธาช่วงอำเภอสีคิ้วถึงกุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร ความก้าวหน้าขณะนี้ 23.2 9% ช้ากว่าแผน 12.54% ซึ่งปัญหาอุปสรรคของโครงการที่ 2-1 ก็คือเรื่องของการเข้าพื้นที่และขณะนี้มีการระบาดของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 โดยขณะนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เร่งรัดดำเนินการในการก่อสร้าง เพื่อให้สามารถดำเนินการให้ทันตามที่ได้กำหนดการเอาไว้

สัญญาตอนที่ 3-1 เป็นช่วงระหว่างอำเภอแก่งคอยถึงอำเภอกลางดง และช่วงปางอโศกถึงบันไดม้า ระยะทาง 30.21 กิโลเมตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการที่แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมกับคณะอนุกรรมการ Executive Committee (EXCOM) ในเรื่องของรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งจะมีการประชุมวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ คาดว่าคณะกรรมการ คงจะได้พิจารณาให้ความเห็นชอบ

สัญญา 3-2 เป็นการก่อสร้างงานอุโมงค์ช่วงมวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร โครงการนี้คณะกรรมการได้อนุมัติจ้างแล้ว เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563 คาดว่าทั้งหมดจะสามารถดำเนินการได้ตามแผน

สัญญา 3-3 ช่วงเขาบันไดม้าไปที่อำเภอลำตะคอง โครงการนี้คณะกรรมการ ก็ได้อนุมัติสั่งจ้างไปแล้วเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563

สัญญาที่ 3-4 ช่วงลำตะคองถึงสีคิ้ว และช่วงกุดจิกถึงโคกกรวด จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้ก็อยู่ในระหว่างการดำเนินการแจ้งข้อมูลให้กับคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อตรวจสอบในเรื่องของสิ่งแวดล้อม EIA

สัญญาที่ 3-5 คือช่วงโคกกรวด จังหวัดนครราชสีมา อยู่ระหว่างเสนอคณะกรรมการ ในการอนุมัติสั่งจ้าง

สัญญาที่ 4-1 สัญญานี้ จะเป็นช่วงที่เข้ามาในกรุงเทพฯก็คือช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง โครงการดังกล่าวนี้เป็นโครงการที่จะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับโครงการ eec เพื่อที่จะเป็นการเสริมเข้าไปในเรื่องรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ตรงนี้กำลังดูที่ทางผู้บริหารโครงการ ece จะได้เสนอเรื่องนี้เข้าไปให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมในการพิจารณาในเรื่องของรายงานการสิ่งแวดล้อม

สัญญา 4-2 ช่วง ดอนเมือง -นวนคร ขณะนี้ประกวดราคาเรียบร้อยแล้ว กำลังรอลงนาม

สัญญาที่ 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ สัญญานี้ก็เหมือนกับสัญญาที่ 4-2 ก็คือรอลงนามในสัญญาจ้าง

สัญญาที่ 4-4 เป็นสัญญาสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ขณะนี้อยู่ในระหว่างการที่ดำเนินการขายเอกสารในการที่จะยื่นคุณสมบัติเพื่อที่จะเข้าประกวดราคา

สัญญาที่ 4-5 เป็นสัญญาก่อสร้างงานโยธา ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ขณะนี้คณะกรรมการ ได้อนุมัติสั่งจ้างแล้ว เมื่อวันที่ 16 เมษายนที่ผ่านมา

สัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ขณะนี้ประกวดราคาเรียบร้อยแล้วก็รอลงนามในสัญญาจ้าง

และสัญญาที่ 14 คือสัญญาที่ 4-7 คือการก่อสร้างงานโยธาช่วงสระบุรีถึงแก่งคอย ขณะนี้รอลงนามในสัญญาจ้าง

 

โครงการทั้งหมดเป็นงานโยธา 14 สัญญา ซึ่งมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 100,241.62 ล้านบาทโดยสัญญาทั้งหมดนี้ จะใช้เวลาก่อสร้างในระยะเวลาประมาณ 64 เดือน หรือ ประมาณ 5 ปีนิดๆ

ส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร)ขณะนี้ทางกระทรวงคมนาคม โดยท่านอธิบดีกรมการขนส่งทางราง ได้ประสานงานกับทางประเทศจีน เพื่อขอให้มีการจัดการประชุมระหว่างคณะกรรมการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในระบบ Video Conference ซึ่งขณะนี้ทางรัฐบาลจีน ได้ตอบตกลงโดยจะมีการประชุมกันในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563

โดยการประชุมวันที่ ‪25 พ.ค.‬นี้ จะพิจารณาตกลงเรื่องสกุลเงินที่จะใช้ชำระค่าก่อสร้าง ซึ่งตกลงกันว่าจะใช้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 80% และเงินบาท 20% โดยมีมูลค่ารวมของโครงการสัญญา 2.3 คิดเป็นมูลค่าประมาณ 50,633 ล้านบาท

พร้อมระบุว่า นโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ต้องการที่จะให้โครงการนี้เป็นโครงการสายหลักในการที่จะก่อให้เกิดการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในเรื่องทางราง ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทางรางศูนย์กลางของประเทศกลุ่มอาเซียน

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. เงินลงทุน 179,413 ล้านบาท เป้าหมายการเปิดให้บริการ จะขยับไปจากเดิมจะเปิดในปี 2566 แต่กำหนดการอาจจะเลื่อนออกไป เนื่องจากแผนมีความล่าช้าจากที่กำหนด แต่หากแล้วเสร็จ จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพ-นครราชสีมา ราว 1 ชั่วโมง 30 นาที

แต่ถ้าไปสิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย ก็จะรวมระยะทาง 617 กิโลเมตร ใช้เวลา 3 ชั่วโมง 45 นาที จากกรุงเทพมหานคร

แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีกลางบางซื่อ วิ่งตรงไปทางทิศเหนือในเส้นทางเดียวกับรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกผ่านท่าอากาศยานดอนเมือง เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จากนั้นวิ่งตรงไปตามแนวทางรถไฟสายเหนือไปจนถึงชุมทางบ้านภาชี แนวเส้นทางจะเบี่ยงไปใช้แนวเส้นทางรถไฟสายอีสานไปตลอดทางจนถึงสถานีแก่งคอย ซึ่งจะเป็นสถานีชุมทางที่แยกสายไปเชื่อมต่อเข้ากับสายตะวันออกที่สถานีฉะเชิงเทรา จากนั้นมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือและสิ้นสุดเส้นทางในระยะแยกที่สถานีนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมาเดิม

นี่เป็นความคืบหน้าในการดำเนินการของสัญญาด้านงานโยธา 14 สัญญาของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทยจีน และสัญญาที่ 15 คือ สัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) ที่กรมการขนส่งทางราง ได้นัดประชุมกับทางจีนแล้วในวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 รายละเอียดรอติดตามในตอนหน้าครับ