สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว การเตรียมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลช่วงเตาปูน – ท่าพระ (สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย) กันบ้าง ที่ล่าสุด รฟม. ยืนยันว่า 30 มีนาคมนี้ พร้อมเปิดพร้อมเปิดให้บริการ อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล อย่างครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทาง และจะทำให้มีมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม เดินทางได้รอบกรุงเทพมหานคร และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้าสายนี้ วิ่งเป็นวงกลมคล้ายๆ รถไฟฟ้าสายยามาโนเตะ ของญี่ปุ่น เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ
24 มีนาคม 2563 มีรายงานจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ว่า ตามที่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) ได้เปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลช่วงเตาปูน – ท่าพระ โดยไม่คิดค่าโดยสาร มาตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2562 และได้ปรับรูปแบบการทดลองให้บริการตามลำดับ จนมาถึงการให้บริการเสมือนจริงนั้น ผลปรากฏว่าการให้บริการเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากประชาชนที่เข้ามาร่วมทดลองใช้บริการ
ปัจจุบันความก้าวหน้าของงานและระบบต่างๆ มีความพร้อมแล้ว ดังนั้น รฟม. และ BEM จะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลช่วงเตาปูน – ท่าพระ อย่างเป็นทางการ โดยจะเริ่มจัดเก็บค่าโดยสารตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 นี้เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล อย่างครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทาง โดยมีจำนวนสถานีทั้งสิ้น 38 สถานี รวมระยะทางประมาณ 48 กิโลเมตร
มีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line) เดินทางได้รอบกรุงเทพมหานคร และมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นๆและระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ทั้งล้อ เรือ ราง ครอบคลุมพื้นที่ในเขตเมือง ทำให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยสะดวก รวดเร็วและต่อเนื่อง อีกทั้งยังสามารถหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรได้อีกด้วย
ทั้งนี้ สำหรับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลทั้งเส้นทาง จะคิดอัตราค่าโดยสารตามระยะทาง ตั้งแต่สถานีแรก ที่อัตรา 16 บาท สูงสุด 42 บาท ทั้งนี้การคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุด จะคิดที่ 12 สถานี จากจำนวนทั้งสิ้น 38 สถานี และในกรณีเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 จะคิดอัตราค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 48 บาท (จากราคาปกติไม่เกิน 70 บาท) เดินทางได้ถึง 53 สถานี (สายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม)
โดยเมื่อผู้โดยสารแตะบัตรหรือเหรียญโดยสารที่ประตูอัตโนมัติแล้ว จะสามารถอยู่ในระบบรถไฟฟ้าได้ไม่เกิน 180 นาที พร้อมทั้งยังคงส่วนลดพิเศษสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 14 ปี ที่มีความสูงระหว่าง 91 – 120 ซม. และ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 50% รวมทั้งนักเรียนนักศึกษาที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี จะได้รับส่วนลดค่าโดยสาร 10% เช่นเดิม
ก็ใกล้ความจริงมาแล้ว สำหรับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ที่จะเปิด ครบทุกสถานีเต็มโครงข่ายของเส้นทาง และมีแนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line)
แนวเส้นทางเชื่อมต่อโครงข่ายเป็นวงกลม (Circle Line)แบบนี้ จะทำให้ประเทศไทย มีเส้นทางรถไฟฟ้า คล้ายๆ สายยามาโนเตะ ของญี่ปุ่น คือ มีเส้นทางการวิ่งเป็นวงกลมรอบเมืองโตเกียว เชื่อมต่อย่านการค้าและย่านธุรกิจที่สำคัญ เช่น ชินจูกุ , ชิบูยะ และ เป็นเส้นทางรถไฟที่คับคั่งและสำคัญที่สุดสายหนึ่งของโตเกียว ซึ่งมีสถานีทั้งสิ้น 29 สถานี
แม้ว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเต็มระบบ จะเปิดบริการในช่วงวิกฤติ แต่ก็น่าจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้และเข้าสู่ภาวะปกติได้โดยเร็ว และจะได้ใช้วิกฤตินี้ในสร้างมาตรการ การป้องกันโรคติดต่อแบบนั่งยืนเพื่อสุขภาพที่ดี และความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการต่อไปครับ