อัพเดท ผลถกการขุด”คลองไทย”- แนะอย่าช้าหวั่นเสียโอกาส

575

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าเรื่องการขุดคลองไทย กันบ้างนะครับ ล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย ได้ประชุมกันเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยสรุปคาดว่าต้องใช้งบประมาณถึง 2.2 ล้านล้านบาท ชี้ จะต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการดำเนินการ เพราะจะเป็นการเสียโอกาส โดยกรอบการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯชุดนี้ จะแล้วเสร็จภายใน 120 วัน เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

หลังจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2563 ได้ลงมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาขุดคลองไทยและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ตามญัตติที่เสนอทั้งจากสส.ฝ่ายค้านและสส.ฝ่ายรัฐบาลซึ่งเป็นไปในแนวเดียวกัน และ กรรมาธิการฯ ทั้งหมด 49 คน ได้ร่วมประชุมนัดแรกไปเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 มกราคม 2563 โดยจะมีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 120 วัน

โดยล่าสุดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการประชุมเป็นครั้งที่ 4 แล้ว โดยมีนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร นำประชุม

โดยมีสาระการประชุมดังนี้ คือ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องคลองไทย และการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ มิติด้านงบประมาณโดยรวม โดยมีหน่วยงานมาให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะกรรมาธิการ ประกอบด้วย 1.สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง 2. สำนักงบประมาณ 3.สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และ 4. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

จากการพิจารณา เรื่องการขุดคลองไทยและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ มิติด้านงบประมาณในภาพรวมโดยสรุปแล้ว ถ้ามีการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจของภาคใต้จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และโลจิสติกส์ ซึ่งจะทำให้สร้างรายได้ในพื้นที่ภาคใต้ เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

แต่การดำเนินโครงการนี้ เนื่องจากเป็นโครงการขนาดใหญ่งบประมาณในการลงทุนสูง ประมาณ 2.2 ล้านล้านบาท ถ้ามีความเห็นตรงกันในการดำเนินการแล้ว จะต้องมีการศึกษาอย่างเป็นระบบตั้งแต่กระบวนการแรกในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

หลังจากนั้นถ้าคณะรัฐมนตรีเห็นชอบด้วย ก็จะดำเนินการศึกษาเต็มรูปแบบเพื่อวิเคราะห์ให้เข้าใจข้อมูลอย่างชัดเจนทุกมิติทั้งผลกระทบด้านบวกและด้านลบ ด้านการเมืองการปกครอง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวและมิติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตามในขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งงบประมาณในการศึกษาเบื้องต้น และยังไม่มีการศึกษาเชิงลึกแต่อย่างไร

โดยในขณะเดียวกันคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีข้อสังเกตุว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีการศึกษาควบคู่ไปพร้อมกันทั้งการศึกษาเบื้องต้นและการศึกษาเต็มรูปแบบเพื่อให้ทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่า ถ้าจะดำเนินการแล้วจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่

แต่จะต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อไม่ให้เสียเวลาในการดำเนินการ เพราะจะเป็นการเสียโอกาส ดังนั้นเพื่อให้การพิจารณาศึกษารอบคอบและตรงประเด็น คณะกรรมาธิการจึงควรเห็นร่วมกันวิเคราะห์และกำหนดเป้าหมาย ตลอดจนแนวทางการศึกษาให้ชัดเจน เพื่อจะสามารถดำเนินการได้อย่างตรงประเด็น

โดยจะนัดประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ครั้งต่อไป เรื่องการพิจารณาวิเคราะห์เป้าหมายและแนวทางในการศึกษาการขุดคลองไทย และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ในวันพฤสบดีที่ 12 มีนาคม 2563 เวลา 13.00 น.ที่อาคารรัฐสภาต่อไป

สำหรับแนวคิดในการขุดคลองนั้น เริ่มแรกมีแนวคิดจะขุดผ่านคอคอดกระ ตั้งแต่สมัยอยุธยา ในปี พ.ศ.2220 ใน รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แต่ก็ยังไม่สามารถเป็นจริงได้ ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา เช่น ความกลัวการเสียดินแดนหรือการแบ่งแยกดินแดน เป็นต้น
โดยแนวความคิดในการขุดคลอง มีการนำเสนอและปรับเปลี่ยนตลอดเวลา มาจนถึงปัจจุบันมีอยู่ด้วยกัน 12 แนว แต่ผลการสำรวจพบว่า แนว 9 เอ มีความเหมาะสมที่สุด ซึ่งผ่าน 5 จังหวัด คือ กระบี่, ตรัง, พัทลุง, นครศรีธรรมราช และสงขลา ระยะทางประมาณ 128 กม.

โดย ดร.สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมการวิสามัญ เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคลองคอดกระ (คลองไทย) เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า คาดว่า ถ้าสร้างคลองไทยในแนว 9 เอ เรือที่วิ่งไปยังช่อง แคบมะละกา ก็จะร่นระยะทางได้ 1,000 – 1,400 กิโลเมตร หรือประมาณ 2–3 วัน เรือขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายในแต่วันสูงมาก ถ้าลดเวลาในการขนส่งลงก็จะลดค่าใช่จากส่วนนี้ลงด้วย

อย่างไรก็ตามโครงการนี้มีทั้งผู้เห็นด้วยและคัดค้าน ดังนั้นต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบด้าน และต้องดูว่าเมื่อครบ 120 วัน ในการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย แล้ว ผลสรุปจะเป็นอย่างไร จะเดินหน้า หรือ อยู่กับที่เหมือนเดิมอย่างที่ผ่านๆมา