เร่งพัฒนาท่าเรือระนอง เชื่อมกลุ่มประเทศ BIMSTEC

596

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือระนอง ให้เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ BIMSTEC กันบ้าง ที่ล่าสุดฝ่ายบริหารการท่าเรือแห่งประเทศไทย ได้ลงดูพื้นที่ดูความพร้อม หลังรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำให้พัฒนาให้ท่าเรือระนองมุ่งสู่การเป็นประตูการค้า เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

กรณีนโยบายนายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เน้นย้ำให้ การท่าเรือฯ เร่งการพัฒนาให้ท่าเรือระนองมุ่งสู่การเป็นประตูการค้า การขนส่ง เชื่อมโยงกลุ่มประเทศ BIMSTEC ซึ่งประกอบด้วย บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมาร์ เนปาล ศรีลังกา และไทย นั้น

ล่าสุด พลเรือเอก โสภณ วัฒนมงคล ประธานกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมคณะ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของท่าเรือระนองเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 เพื่อหาแนวทางในการพัฒนาท่าเรือระนอง ในการพัฒนาเป็นประตูการค้าการขนส่งเชื่อมโยง BIMSTEC โดยมี นายศุภฤกษ์ ปิณฑะดิษ ผู้จัดการท่าเรือระนองให้การต้อนรับ

คณะผู้ตรวจเยี่ยมท่าเรือระนองได้พบปะและรับฟังแนวทางการดำเนินงาน ปัญหาของผู้ใช้บริการท่าเรือระนอง และหาแนวทางแก้ไข เพื่อเป็นการพัฒนาการให้บริการ ท่าเรือระนอง มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับรายละเอียดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือระนองนี้ เพื่อเชื่อมโยงการค้าการลงทุน และพัฒนาเส้นทางการเดินเรือกับกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกของประเทศ สนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC)

ที่จะส่งเสริมให้การขนส่งสินค้าไปยังเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป ให้สะดวกรวดเร็วและประหยัดต้นทุนมากขึ้น และสามารถช่วยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุน เป็นฐานการผลิตและส่งออก สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้อย่างยั่งยืน

โดยรูปธรรมที่ดำเนินการมาก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว ได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับระหว่างท่าเรือระนอง กับ ท่าเรือ Chennai Container Private Limited (DP World) ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการท่าเรือและ โลจิสติกส์รายใหญ่ที่สุดของโลก มีท่าเรือสาขา 6 ท่า เฉพาะในประเทศอินเดีย และอีกในหลายประเทศทั่วโลก

และการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง กทท. (ท่าเรือระนอง) และ Hambantota International Port Group PVT Ltd. ท่าเรือ Hambantota สาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ซึ่งเป็นหนึ่งในท่าเรือกลุ่มประเทศ BIMSTEC เพื่อเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างท่าเรือในลักษณะ Port–to–Port Cooperation เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างท่าเรือทั้งสองแห่งในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารทางด้านการบริหารจัดการท่าเรือ การปฏิบัติการภายในท่าเรือ งานด้านการตลาด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร การเชื่อมโยงเครือข่ายของท่าเรือ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจท่าเรือ

สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนอง เมื่อปี 2562 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี บอกว่า ต้องการให้การท่าเรือเร่งรัดการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกระนองเฟส 1 วงเงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเชื่อมสองฟากฝั่งมหาสมุทรระหว่างฝั่งอ่าวไทยและมหาสมุทรอินเดีย โดยใช้ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือระนองเป็นท่าเรือเชื่อมต่อหลัก ในการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างท่า

พร้อมกันนี้ ยังมีแผนเสนอให้ลงทุนก่อสร้างถนนสายใหม่ช่วง อ.หลังสวน จ.ชุมพร-.ระนอง เพื่อสนับสนุนการขนส่งสินค้าจากชายฝั่งชุมพรไปท่าเรือระนองอีกด้วย ซึ่งจะทำให้ ไทย กลายเป็นฮับการขนส่งสินค้าในภูมิภาคและเป็นจุดกระจายสินค้าไปยังกลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี ด้วย

ซีแอลเอ็มวี ก็คือประเทศ กัมพูชา ลาว เมียนมา และ เวียดนาม

พร้อมๆกันนั้น จะเป็นการชิงส่วนแบ่งตลาดขนส่งสินค้าทางน้ำกับมาเลเซียและสิงคโปร์เพราะไม่ต้องไปอ้อมไกลสามารถขนส่งผ่านไทยได้เลย

ซึ่งก่อนหน้านี้ มีบริษัทเดินเรือและท่าเรือรายใหญ่จากจีนสนใจเข้าลงทุนพัฒนาท่าเรือระนอง เพราะว่า สอดคล้องกับนโยบาย One Belt One Road หรือ 1 แถบ 1 เส้นทาง ของจีน คือ เส้นทาง จากจีน-แหลมอินโดจีน ไปยังสิงคโปร์

ในขณะที่ นายกมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการ กทท. ระบุเมื่อปีที่แล้วว่า ท่าเรือระนอง จะเป็นหลักเพื่อเป็นเกตเวย์ อยู่ระหว่างเร่งจ้างที่ปรึกษาเข้ามาออกแบบรายละเอียด คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2563 ใช้เวลา 2 ปีก่อนเปิดให้บริการในปี 2565

ท่าเรือระนอง อยู่ในเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการขนส่ง ซึ่งนอกจากจะมีศักยภาพสูงในพัฒนาเส้นทางเดินเรือเชื่อมโยงระหว่างท่าเรือระนองกับท่าเรือในกลุ่ม BIMSTEC แล้วยังจะเป็นจุดส่งผ่านสินค้าไปยังตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป

พร้อมทั้ง ยังเป็นปัจจัยสำคัญ ในการสนับสนุนโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ให้เป็นรูปธรรมขึ้นมา

ดังนั้นการพัฒนาท่าเรือระนอง จึงต้องเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า ไปหวังจะไปพัฒนาท่าเรือทวาย ของเมียนม่า ครับ