ยันชัดไม่ปิด”หัวลำโพง” หลังเปิดใช้สถานีกลางบางซื่อ

425

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าวเรื่อง การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีสื่อญี่ปุ่น นำเสนอข่าวการให้บริการสถานีกรุงเทพหรือ หัวลำโพง จะถูกปิดลง เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อ จะเปิดให้บริการในปี 2564 โดยการรถไฟระบุชัดว่า หัวลำโพง ยังคงให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา เพียงแต่จะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีน้อยลง เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

 

เมื่อ 19 มกราคม 2563 การรถไฟแห่งประเทศไทย การรถไฟฯ ชี้แจงกรณีการนำเสนอข่าวการให้บริการสถานีกรุงเทพ(หัวลำโพง) จะถูกปิดลง เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อ จะเปิดให้บริการในปี 2564 นั้น

โดยนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวชี้แจงว่า ในต้นปี 2564 สถานีกลางบางซื่อจะเปิดใช้งาน ซึ่งจะเป็นสถานีรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พื้นที่ภายในสถานีจะประกอบไปด้วย ชั้นที่ 1 เป็นพื้นที่สำหรับห้องจำหน่ายตั๋วโดยสาร ชั้นที่ 2 เป็นชั้นชานชาลาสำหรับรถไฟทางไกล และรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และชั้นที่ 3 ประกอบด้วยรถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน และรถไฟฟ้าความเร็วสูงสายตะวันออกเฉียงเหนือ สายเหนือ และสายใต้

โดยจะเป็นศูนย์รวมการเดินทาง จุดเชื่อมต่อทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถขนส่งสาธารณะต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาการจราจร

 

และพื้นที่รอบ ๆ สถานีกลางบางซื่อก็จะถูกพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน เพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชน ซึ่งในช่วงแรกของการเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อนั้น การรถไฟฯ จะยังไม่ย้ายขบวนรถไฟทางไกล และขบวนรถชานเมืองที่ออกจากสถานีกรุงเทพ ไปสถานีกลางบางซื่อทั้งหมด แต่จะพิจารณาให้ขบวนรถที่มีความพร้อมไปเปิดใช้บริการที่สถานีกลางบางซื่อก่อน

 

อย่างไรก็ตาม สถานีกรุงเทพ หรือ หัวลำโพง จะเปลี่ยนจากสถานีรถไฟหลัก เนื่องจากจะมีขบวนรถเข้าสู่สถานีกรุงเทพน้อยลง แต่ยังคงเป็นสถานีรถไฟที่ให้บริการประชาชนเหมือนเช่นที่ผ่านมา และพัฒนาพื้นที่บางส่วนเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ของประชาชนด้านประวัติศาสตร์ของการรถไฟฯ ต่อไป

 

สำหรับสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นสถานีที่เก่าแก่ที่สุด เริ่มก่อสร้างขึ้นในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2453 สร้างเสร็จและเปิดใช้งานเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

สถานีรถไฟหัวลำโพง ก่อสร้างในลักษณะโดมสไตล์อิตาเลียนผสมกับศิลปะแบบเรอเนสซองซ์ คล้ายกับสถานีรถไฟแฟรงก์เฟิร์ตในประเทศเยอรมนี ประดับด้วยหินอ่อนและเพดานมีการสลักลายนูนต่าง ๆ เป็นหลัก โดยมีนาฬิกาขนาดใหญ่รัศมี 80 เซนติเมตร ถูกติดตั้งอยู่กลางสถานีรถไฟเป็นสัญลักษณ์แห่งหนึ่ง

และสถานีรถไฟหัวลำโพง ถือว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนไทย ที่เป็นหลักฐานสำคัญ ชี้ให้เห็นถึงความก้าวหน้าในระบบรางของไทยในอดีต ครับ