สรุปแล้ว! ชงสร้างโครงการรถไฟทางคู่เชื่อม 3 ท่าเรืออีอีซี

380

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้ มาติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก- ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด เชื่อม 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง สัตหีบ และมาบตาพุด รวมเม็ดเงินเกือบ 4 หมื่นล้านบาท
โดยล่าสุดผลการศึกษาสรุปแล้ว เตรียมนำเสนอให้ รฟท. พิจารณาในเดือนธ.ค.นี้ ภายหลังประชุมรับฟังความเห็นครั้งสุดท้ายของประชาชน เมื่อ 27 พ.ย.2562 คาดว่าหากไม่มีอะไรติดขัด ก็จะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

เมื่อ 27 พ.ย.2562 ที่โรงแรมแกรนด์โฟร์วิงค์ ศรีนครินทร์ เขตบางกะปิ การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้จัดประชุมใหญ่เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนครั้งสุดท้าย ต่อสรุปผลการออกแบบรายละเอียดโครงการงานศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียดและศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก- ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วม

โดยนายสมเกียรติ เตรียมแจ้งอรุณ ผู้จัดการโครงการ ศึกษาความเหมาะสม และออกแบบรายละเอียด โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความจุทางรถไฟ ช่วงหัวหมาก-ฉะเชิงเทรา-ศรีราชา และโครงการรถไฟทางคู่ ช่วงศรีราชา-มาบตาพุด ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า เตรียมนำเสนอผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์เสนอให้ รฟท. พิจารณาในเดือนธ.ค.ปีนี้

โดยโครงการนี้ จะใช้เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 3.85 หมื่นล้านบาท พร้อมระบุว่า โครงการจะเป็นการพัฒนาโครงข่ายการเดินทางและการขนส่งทางรางจากภาคกลางไปยังเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักกับ 3 ท่าเรือ คือ ท่าเรือแหลมฉบัง , สัตหีบ และมาบตาพุด รวมระยะ 202 กิโลเมตร จำนวน 18 สถานี ผ่านพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและกระจายสินค้าไปยังทุกภูมิภาคอาเซียนด้วย

จะใช้เวลาเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังมาบตาพุดประมาณ 2 ชั่วโมง เนื่องจากรถไฟจะทำความเร็วได้มากขึ้น โดยในส่วนของการขนส่งสินค้า ความเร็วจะเพิ่มจาก 40-50 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 80-90 กิโลเมตร/ชั่วโมง ส่วนการขนส่งคนความเร็วจะเพิ่มขึ้นจาก 60-70 กิโลเมตร/ชั่วโมง เป็น 100 กิโลเมตร/ชั่วโมง
โดยคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารประมาณ 2.3 ล้านคน/ปี ในปีเปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5.9 ล้านคน/ปี ในปี 2598

ส่วนการขนส่งสินค้าคาดว่าจะมีปริมาณ 83 ล้านตัน/ปี ในปีที่เปิดให้บริการ และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 250 ล้านตัน/ปี ในปี 2598

 

นายสมเกียรติ ระบุอีกว่า ผลการศึกษาพบว่า คุ้มค่ากับการลงทุน เพราะมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ สูงถึง 14 % และจะช่วยเพิ่มมูลค่าการการผลิตในระบบเศรษฐกิจได้ราว 1 แสนล้านบาท เพิ่มมูลค่าการจ้างงาน 1.1 หมื่นล้านบาท และสร้างมูลค่าเพิ่มด้านรายได้ในจีดีพีได้อีก 2.9 หมื่นล้านบาท

 

ส่วนขั้นตอนต่อจากนี้ จะเสนอผลศึกษาฉบับสมบูรณ์ให้ รฟท. พิจารณาภายในเดือนธ.ค.2562

หากเห็นชอบรถไฟฯ ก็จะเสนอ คณะรัฐมนตรี (ครม.) และเสนอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้คณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาควบคู่กันไป

คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2564 โดยจะใช้เวลาเวนคืน 2 ปี และก่อสร้างอีก 5 ปี

โครงการนี้นับว่า มีความสำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

และประการสำคัญคือ จะช่วยเพิ่มศักยภาพของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ช่วยลดต้นทุนในการขนส่งสินค้า ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจให้ประชาชน ประเทศชาติ และจะขยายเศรษฐกิจโตขึ้นต่อไปครับ