รถไฟฟ้าภูเก็ตใกล้เป็นจริง คาดเปิดประมูลกลางปี 63

609

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบา ของจังหวัดภูเก็ตกันบ้าง ล่าสุด บอร์ด รฟม.รับทราบผลศึกษา PPP แล้ว แต่ให้ไปศึกษารายละเอียดเพื่อความรอบคอบ และให้เสนอบอร์ดอีกรอบในเดือนธ.ค.นี้เพื่ออนุมัติและเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

หลังจากนั้นจะเปิดประมูลกลางปี 2563 และจะแล้วเสร็จพร้อมเปิดบริการปี พ.ศ.2566 เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

ลุ้นกันมานานว่าจังหวัดไหนจะเปิดโครงการระบบรถไฟฟ้ารางเบาก่อน ล่าสุดดูท่าว่าจังหวัดภูเก็ต จะเป็นจังหวัดแรกที่จะเปิดดำเนินการโครงการนี้

โดยเมื่อวันที่ 19 พ.ย.2562 คณะกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ด รฟม. ที่มีนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธานฯ ได้รับทราบรายงานผลการศึกษาการจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 รูปแบบ PPP Net Cost

แต่อย่างไรก็ตามเพื่อความรอบคอบ คณะกรรมการ ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ ไปพิจารณารายละเอียดทั้งหมดอีกครั้ง และสรุปรายงานให้คณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป

ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ อธิบดีกรมทางหลวง ระบุว่า หลังจากบอร์ดเห็นชอบแล้วจะเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการ PPP ตามขั้นตอน โดยคาดหากไม่มีข้อติดขัดจะสามารถเริ่มขั้นตอนการประมูลคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนได้กลางปี 2563

 

สำหรับโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) กำหนดดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต -ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 41.7 กิโลเมตร

ระยะที่ 2 ช่วงท่านุ่น-เมืองใหม่ ระยะทาง 16.8 กิโลเมตร

โดยมีสถานีทั้งหมด 24 สถานี โดยจะมีสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งทางวิ่งจะมีระดับพื้นดิน บางช่วงทางวิ่งลอดใต้ดินและทางวิ่งยกระดับ

โดยตามแผนคาดการก่อสร้างจะเริ่มในปี พ.ศ.2563 และจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2566 ประเมินเงินลงทุน 39,406 ล้านบาท

โดยประเด็นปัญหาทำให้โครงการล่าช้าก่อนหน้านี้ คือ ผลกระทบการจราจรบนทางหลวงหมายเลข 402 นั้น นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าฯ รฟม. ก็ยืนยันว่า ได้มีการปรับแบบตามข้อเสนอกรมทางหลวง (ทล.) และได้ข้อสรุปลงตัวแล้ว โดยคาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

จังหวัดภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวนานาชาติ และมีปัญหาการจราจรในช่วงชั่วโมงเร่งด่วน

ซึ่งหากโครงการนี้แล้วเสร็จ นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับการสัญจรภายในจังหวัดภูเก็ตแล้ว ยังจะมีประโยชน์สำหรับจังหวัดอื่นๆ ในการใช้เป็นกรณีศึกษาเพื่อดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันนี้