สุวรรณภูมิแน่น เร่งเฟส 2 คาดเสร็จปลายปีหน้า

597

 

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตามข่าว ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) กันบ้าง ซึ่งครบรอบการดำเนินงาน 13 ปี ในวันที่ 28 กันยายน 2562 ด้านผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยันเร่งแก้ไขปัญหาความแออัด มุ่งพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ โดยเฉพาะการปรับปรุงห้องสุขาภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินทั้งสิ้น 124 จุด พร้อมยืนยันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ระยะที่ 2 คาดแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 และสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี เรื่องนี้น่าสนใจไปติดตามกันครับ

Cr.ภาพ ข่าว FB:Suvarnabhumi Airport

 

เมื่อ 28 กันยายน 2562 นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ สุวรรณวัฒน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นท่าอากาศยานหลักของประเทศในฐานะ “ประตูสู่นานาชาติ” มีกำหนดครบรอบการดำเนินงาน 13 ปีในวันที่ 28 กันยายน 2562 นับตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้โดยสารใช้บริการแล้วทั้งสิ้นกว่า 650 ล้านคน ปริมาณการขนส่งสินค้าทางอากาศรวมทั้งหมด 16.5 ล้านตัน ปริมาณเที่ยวบินรวมทั้งหมด 3.93 ล้านเที่ยวบิน

สำหรับผลการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2562 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2561 – สิงหาคม 2562 (รวม 11 เดือน) ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีสายการบินประจำให้บริการจำนวน 111 สายการบิน โดยมีเที่ยวบินที่ทำการบินขึ้น-ลงรวมทั้งสิ้น 348,439 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 1,040 เที่ยวบิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 4.06 มีผู้โดยสารใช้บริการรวมทั้งสิ้น 60 ล้านคน หรือเฉลี่ยวันละ179,042 คนต่อวัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ร้อยละ 2.88 และมีปริมาณการขนส่งสินค้า 12.35 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 9.93

ทั้งนี้ จำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นมีปัจจัยมาจากจำนวนเที่ยวบินที่เพิ่มขึ้น และขนาดของเครื่องบินที่มีขนาดใหญ่ สามารถขนส่งผู้โดยสารได้มากขึ้นกว่าเดิม สำหรับปริมาณการขนส่งสินค้าที่ลดลงนั้น มีสาเหตุมาจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจการค้าของโลก

Cr.ภาพ ข่าว FB:Suvarnabhumi Airport

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ กล่าวว่า จากตัวเลขผู้โดยสารและเที่ยวบินที่เพิ่มมากขึ้นในทุกๆปี ทำให้ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ต้องให้บริการผู้โดยสารเกินศักยภาพของ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ที่ได้ถูกออกแบบไว้ที่ 45 ล้านคนต่อปี
ดังนั้นเพื่อให้คงไว้ซึ่งมาตรฐานการให้บริการ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้นำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการมาช่วยแก้ปัญหาความหนาแน่นของผู้โดยสาร โดยมีแผนที่จะดำเนินการในด้านต่างๆ อาทิ การปรับปรุงการให้บริการของเจ้าหน้าที่จุดตรวจค้น การปรับเปลี่ยนระบบตรวจค้นผู้โดยสารขาออกภายในประเทศจากแบบ Centralized Screening เป็น Concourse Screening และมีการเพิ่มจำนวนช่องตรวจค้น (Security Screening Lane) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจหนังสือเดินทาง (Passport Control) โดยการใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Auto Emigration Service) รวมถึงมีแผนที่จะติดตั้งเคาน์เตอร์ตรวจหนังสือเดินทางเพิ่มเติม เป็นต้น

Cr.ภาพ ข่าว FB:Suvarnabhumi Airport

นาวาอากาศโท สุธีรวัฒน์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีแผนที่จะปรับปรุง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกและการบริการผู้โดยสารในด้านต่าง ๆ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการจอดรถ โดยปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารจอดรถโซน 1 พร้อมอาคารสำนักงาน มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งจะสามารถรองรับรถยนต์ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกกว่า 400 คัน การปรับปรุงอาคารจอดรถโซน 2-3 โดยได้ทำการติดสติ๊กเกอร์ล้อมเสาในบริเวณอาคารเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ ให้สวยงาม โดดเด่น ง่ายต่อการจดจำ การขยายพื้นที่ลานจอดรถโซน 6, 7, 8 และการปรับปรุงลานจอดรถระยะยาวโซน A โดยการติดตั้งหลังคาคลุมทุกช่องจอด การก่อสร้างและปรับปรุงห้องสุขาภายในอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินทั้งสิ้น 124 จุด

Cr.ภาพ ข่าว FB:Suvarnabhumi Airport

ซึ่งขณะนี้ดำเนินการเสร็จแล้วไปจำนวน 15 จุด การจัดหาเก้าอี้มาสำหรับบริการผู้โดยสารนั่งพักคอยเพิ่มเติม โดยแบ่งเป็น การเพิ่มเก้าอี้แบบ 3 ที่นั่ง จำนวน 362 ชุด ( 1,086 ที่นั่ง ) บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน ชั้น 4 การติดตั้งเก้าอี้ชนิดกึ่งเอนนอนเพิ่มเติม จำนวน 72 ตัว ติดตั้งให้บริการผู้โดยสาร บริเวณอาคารเทียบเครื่องบิน ชั้น 3 เพื่อบริการผู้โดยสารผ่าน ผู้โดยสารรอเปลี่ยนเครื่อง (Transit/Transfer)
นอกจากนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังเป็นท่าอากาศยานนำร่องในการนำเอา AOT AIRPORT APPLICATION มาใช้ในการให้บริการ เพื่อบริหารจัดการท่าอากาศยานให้มีประสิทธิภาพ และยกระดับคุณภาพการให้บริการ โดยในเบื้องต้นแอพพลิเคชั่นดังกล่าว จะมีฟังก์ชันสำหรับให้ผู้โดยสารได้ใช้งานในหลายๆ ด้าน เช่น การตรวจสอบตารางเที่ยวบิน การให้ข้อมูลเส้นทางภายในอาคารผู้โดยสาร พร้อมนำทางไปยังจุดต่างๆ การให้ข้อมูลด้านบริการขนส่งสาธารณะในการเดินทางเข้า-ออกท่าอากาศยาน การบริการข้อมูลสิ่งอำนวยความสะดวกภายในท่าอากาศยาน เป็นต้น
ในส่วนของแผนพัฒนาด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างดำเนิน “โครงการศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก” (Certify Hub) เพื่อเป็นการสนับสนุนการส่งออกสินค้าภาคเกษตรโดยเพิ่มมูลค่าไปสู่ตลาดต่างประเทศ และยังเป็นการส่งเสริมกิจการการขนส่งสินค้าทางอากาศและโลจิสติกส์ภาพรวมของประเทศอีกด้วย ซึ่งในระยะแรก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีโครงการจัดตั้งสถานที่สำหรับเตรียมสินค้าเกษตรและสินค้าเน่าเสียผ่านช่องทางพิเศษ (Perishable Premium Lane (PPL)) ก่อนการดำเนินโครงการศูนย์ตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนส่งออก เปรียบเสมือนการให้บริการผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ซึ่งสินค้าที่ใช้บริการโครงการ PPL จะได้รับการดูแลและจัดเตรียมขึ้นเครื่องโดยผู้ชำนาญโดยเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการยกระดับมาตรฐานสินค้าการเกษตรของไทยให้ทัดเทียมนานาชาติเพื่อให้ผู้ส่งออกไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกและขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศของอาเซียนต่อไป
นอกจากนี้ ปัจจุบัน ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง “โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ระยะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย อาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 (Midfield Satellite) หรือ SAT 1 ก่อสร้างเป็นอาคาร 4 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 216,000 ตารางเมตร ลานจอดอากาศยาน (Aircraft Parking Area) มีหลุมจอดอากาศยาน 28 หลุมจอด
โดยโครงการดังกล่าวมีก่อสร้างอุโมงค์พร้อมติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (Automated People Mover : APM) ให้บริการเชื่อมต่อระหว่างอาคารผู้โดยสารหลัก กับอาคาร SAT 1
ทั้งนี้คาดว่าโครงการดังกล่าวจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปลายปี 2563 ซึ่งเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี ในระหว่างนี้ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงได้มีการจัดทำแผนเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ทั้งด้านกำลังคนและอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อให้พร้อมเข้าบริหารงานอาคาร SAT 1 ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ
ผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังระบุด้วยว่า ตลอด 13 ปีที่ผ่านมา ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีความภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ นำมาซึ่งรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล สำหรับการก้าวเข้าสู่ปีที่ 14 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ยังคงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาและยกระดับคุณภาพการบริการอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน เพื่อคงความเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาคเอเชีย และสมกับเป็นประตูสู่นานาชาติของประเทศไทย มีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของประเทศให้เจริญเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีผู้ใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ มีปัญหาความแอดอัด รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอ การเร่งพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถ รองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า และเที่ยวบินในอนาคตจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการเร่งให้“โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ” ระยะที่ 2 แล้วเสร็จตามแผน เพราะจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เหมาะสมกับศักยภาพคือ 60 ล้านคนต่อปี ครับ