จ่อลุยเต็มสูบ! รถไฟทางคู่สายใหม่ “ศรีราชา–คลองใหญ่”

736

cr.ภาพ FB:ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้ มาติมตามข่าว การรถไฟฯ เดินหน้าโครงการรถไฟทางคู่เส้นทางสายใหม่ ช่วงชุมทางศรีราชา – ระยอง และมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่ หลังการรับฟังความคิดเห็นชาวชลบุรี เตรียมแผนพัฒนาเส้นทาง ส่งเสริมด้านอุตสาหกรรมผลไม้และการท่องเที่ยวในภูมิภาคตะวันออก พร้อมผลักดันการเจริญเติบโตระบบการขนส่งทางด้านโลจิสติกส์ในอนาคต เรื่องนี้น่าสนใจ ไปติดตามกันครับ

เมื่อ 9 สิงหาคม 2562 นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่การรถไฟฯ ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาโครงการ เพื่อศึกษาความเหมาะสม ของโครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง

และมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่ ในการดำเนินโครงการดังกล่าว จำเป็นต้องการมีการแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมจากประชาชนตามแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือก ทั้งด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้โครงการเป็นที่ยอมรับต่อสาธารณชน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) (cr.ภาพ FB:ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย)

 

ซึ่งเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 การรถไฟฯ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามแนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกงานบริการที่ปรึกษา เพื่อศึกษาความเหมาะสมของโครงการก่อสร้างทางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง และมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่ เพื่อนำเสนอร่างผลสรุปการศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจการเงิน ผลกระทบด้าน สิ่งแวดล้อมเบื้องต้น และผลการดำเนินงาน การมีส่วนรวมของประชาชน พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจาก ทุกภาคส่วน

โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน และภาคประชาชน ในจังหวัดชลบุรี ตราด ระยอง และจันทบุรี มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟังความเห็นเป็นจำนวนมาก

โครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางศรีราชา-ระยอง และมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด-คลองใหญ่ เป็นเส้นทางรถไฟสายใหม่ จะมีเส้นทางตัดผ่าน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดระยอง จังหวัดจันทบุรี และ จังหวัดตราด

มีจุดเริ่มต้นโครงการก่อสร้างที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี และสิ้นสุดโครงการที่อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด มีสถานีรถไฟทั้งหมด 34 สถานี ระยะทางรวม ทั้งหมดโดยประมาณ 333 กิโลเมตร สำหรับแนวเส้นทางกำหนดโครงการ แบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่

แนวเส้นทางช่วงที่ 1 เส้นทางเชื่อมโยง นิคมอุตสาหกรรม สู่นิคมอุตสาหกรรม มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีชุมทางศรีราชา – สถานีระยอง
แนวเส้นทาง ช่วงที่ 2 เส้นทางเชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมสู่พื้นที่อำเภอเมืองระยอง มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสถานีมาบตาพุด ถึงอำเภอเมือง จังหวัดระยอง

และแนวเส้นทางช่วงที่ 3 เส้นทางเชื่อมโยงโครงการระเบียงผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Fruit Corridor) และการท่องเที่ยวมีจุดเริ่มต้นจากอำเภอเมือง จังหวัดระยอง ผ่านพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี และสิ้นสุดที่ อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด และพื้นที่ย่านเก็บกองและขนถ่ายสินค้า

cr.ภาพ การรถไฟแห่งประเทศไทย,กระทรวงคมนาคม

 

นายวรวุฒิ กล่าวต่อว่า ภายหลังจากการเปิดรับฟังความเห็นของประชาชนแล้ว การรถไฟฯ จะนำข้อมูลที่ได้นำมาสรุปและรวมรวบเสนอคณะการรมการรถไฟฯ เพื่อขออนุมัติงบประมาณในการสำรวจและออกแบบรายละเอียดต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาออกแบบราว 1 ปี หลังจากนั้นจะเริ่มขั้นตอนประมูลหาผู้รับเหมา คาดว่าจะประมูลได้ช่วงกลางปี 2564 และจะสามารถเร่งรัดเริ่มงานก่อสร้างในช่วงปลายปีเดียวกัน

โดยจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 4 ปี สามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2568 -2569 ทั้งนี้หากโครงการแล้วเสร็จจะเพิ่มความสะดวกสบายให้กับประชาชน และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าทางรางให้กับเกษตรกรในพื้นที่ อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบในภาคตะวันออก พร้อมทั้งสอดรับกับการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นําด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียนในอนาคตต่อไป

โครงการก่อสร้างทางรถไฟรางคู่ สายชุมทางศรีราชา – ระยอง – และมาบตาพุด – ระยอง – จันทบุรี – ตราด – คลองใหญ่ ถือเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นผู้นําด้านเศรษฐกิจ การคมนาคม และโลจิสติกส์ของอาเซียน ซึ่งคาดว่าจะประมูลได้ช่วงกลางปี 2564 และเปิดให้บริการได้ในช่วงปี 2568 -2569