อวสาน”สายเคเบิ้ล”รกรุงรัง-อีก 2 ปีเอาลงดินหมด

452

 

 

สวัสดีครับพบกันอีกเช่นเคยกับช่อง 1one.asia วันนี้มาติดตาม เรื่อง สายไฟและสายเคเบิ้ลต่างๆ พะรุงพะรัง ทัศนะอุจาด และ เสี่ยงอันตรายในพื้นที่จังหวัดต่างๆของไทย โดยเฉพาะในกทม. แม้แต่บิลล์ เกตส์เจ้าของไมโครซอฟท์ ก็เคยวิพากษ์วิจารณ์จนกลายเป็นประเด็นข่าว โด่งดังทั่วโลกมาแล้ว
ล่าสุดกทม.จะเอาจริงแล้ว โดยประกาศเดินหน้านำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อให้เป็นเมืองไร้สาย รวม 2,450 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี เรื่องนี้น่าสนใจ มาติดตามรายละเอียดกันครับ

 

มีรายงานว่า เมื่อ 18 มิ.ย.62 พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ การนำสายสื่อสารลงใต้ดินในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระหว่างกรุงเทพมหานคร และกสทช. ที่ห้างเดอะสตรีท ถนนรัชดาภิเษก

cr.ภาพ กทม.

 

โดย ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อเดือนมกราคม 2562 ให้กทม.เป็นเจ้าภาพดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อจัดระเบียบสายสื่อสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย กทม.ได้ประชุมหารือกับ กสทช. เพื่อเตรียมความพร้อมแผนงาน รวมถึงมาตรการต่างๆ พร้อมทั้งได้ร่วมกันแถลงถึงแนวทางการบริหารจัดการนำสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานครเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยกทม.ได้มอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ซึ่งเป็นวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกรุงเทพมหานคร เป็นผู้ดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างและขับเคลื่อนโครงการก่อสร้างและวางท่อร้อยสายเพื่อนำสายสื่อสารบนถนนสายหลัก สายรอง รวมถึงเส้นทางลัด และเส้นทางในซอยที่มีการพาดสายทั่วกรุงเทพฯ ลงใต้ดิน รวม 2,450 กิโลเมตร ให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 2 ปี โดยไม่กระทบผิวจราจร รวมมูลค่าโครงการรวมกว่า 20,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ใช้งบประมาณของทางราชการ

ผู้ว่าฯ กทม. บอกด้วยว่า ขณะนี้การดำเนินงานอยู่ระหว่างสำรวจสภาพพื้นที่เบื้องต้น โดยใช้ระบบเรดาร์บนบาทวิถีที่ระดับความลึก 8 เมตร จากนั้นจะมีการออกแบบและวางแผนเพื่อขุดเจาะวางท่อร้อยขนาดเล็กใต้ดินด้วยเทคโนโลยีไมโครดัก (Micro duct) โดยมีวิธีการก่อสร้าง 2 รูปแบบ คือ 1.การก่อสร้างแบบเจาะลากท่อ HorizontalDirectional Drill (HDD) และ 2.การก่อสร้างแบบเปิดหน้าดิน Open Cut (Semi-Direct-Burial) ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย ขุดเจาะเปิดหน้าดินน้อย และช่วยประหยัดพื้นที่

cr.ภาพ กทม.

 

สำหรับโครงการนำระบบสายสื่อสารลงใต้ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะทาง 2,450 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่ดำเนินการออกเป็น 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพเหนือ กรุงเทพตะวันออก กรุงธนเหนือ และกรุงธนใต้ โดยจะเริ่มดำเนินการในพื้นที่นำร่อง 4 จุด ใน 4 พื้นที่พร้อมกัน ประกอบด้วย พื้นที่ 1 กรุงเทพเหนือ ระยะทางประมาณ 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่องที่จะดำเนินการ ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระรามที่ 1 – ถนนเพชรบุรี รวม 1.4 กิโลเมตร

พื้นที่ 2 กรุงเทพตะวันออก ระยะทางประมาณ 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนรัชดาภิเษก จากบริเวณสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ ประตู 2 และประตู 3 ถึงซอยรัชดาภิเษก 7 และซอยประชาสันติ และบริเวณถนนเทียมร่วมมิตร จากถนนรัชดาภิเษกถึงหน้าอาคารไซเบอร์เวิลด์ (CW Tower) รวม 1.95 กิโลเมตร พื้นที่ 3 กรุงธนเหนือ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร ระยะทางรวม 605 กิโลเมตร เส้นทางนำร่องบริเวณถนนนราธิวาสราชนครินทร์ 68 จากถนนนราธิวาสราชนครินทร์ ถึงซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10 รวม 1.7 กิโลเมตร และพื้นที่ 4 กรุงธนใต้ ครอบคลุมพื้นที่ฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร เช่นเดียวกัน รวมระยะทาง 620 กิโลเมตร โดยเส้นทางนำร่อง ได้แก่ บริเวณถนนวิทยุ ช่วงถนนพระราม 1 ถึงถนนพระราม 4 ระยะทาง 1.9 กิโลเมตร

โดย กทม.จะเริ่มดำเนินการขุดเจาะและวางท่อร้อยสายประมาณเดือนกรกฎาคม 2562 โดยตั้งเป้าหมายดำเนินการขุดวางท่อร้อยสายและนำสายสื่อสารลงใต้ดินให้ได้อย่างน้อยพื้นที่ละ 150 กิโลเมตร ภายในปี 2562 และเร่งดำเนินการทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี
นี่เป็นความคืบหน้าล่าสุดในการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน หลังจากรอคอยกันมานาน และกลายเป็นประเด็นที่ชาวต่างชาติได้วิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มโลก ซึ่งกทม.ยืนยันว่า โครงการจะเริ่มเดือน ก.ค.นี้ และ จะเสร็จตามกำหนดภายใน 2 ปี ก็คาดว่า หากโครงการนี้เสร็จตามเป้าในอีก 2 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จะเป็นเมืองที่สวยงามไม่แพ้ชาติใดในโลก และจะช่วยดึงดูดกันท่องเที่ยวได้มากขึ้นไปอีกครับ